“แก้ รธน.” เกินหลักการ เปิดทาง “ล้ม” ระบบเลือกตั้ง

“แก้ รธน.” เกินหลักการ  เปิดทาง “ล้ม” ระบบเลือกตั้ง

การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เริ่มเดินหน้าในชั้นกรรมาธิการแล้ว งานที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ในรายละเอียด กลับพบสิ่งที่เป็มปม และส่อจะกลายเป็นจุดขยาย ที่อาจนำไปสู่ การล้มกระดานระบบเลือกตั้ง ได้ในอนาคต

       คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐสภาได้เดินหน้าจัดประชุมไปแล้ว

       ปัญหาหนึ่งที่เจอในการประชุมนัดแรก คือ ความบกพร่องของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดย 3 พรรคร่วมรัฐบาล นำโดย “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา”

       เพราะเสนอหลักการและเหตุผล ขอแก้ไขเพิ่ม เพียงแค่ 2 มาตรา คือ มาตรา 83 ว่าด้วยองค์ประกอบของ สภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 91 ว่าด้วยวิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

       เรื่องนี้กรรมาธิการ (กมธ.) ฝั่งพรรคก้าวไกล “รังสิมันต์ โรม” มองรายละเอียดว่า ความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหาที่ขอแก้เพียง 2 มาตรา หาก กมธ.จะเพิ่มมาตราที่แก้ไขอีก 6 มาตรา เพื่อให้เข้ากับ 2 มาตราตามหลักการ อาจเป็นเรื่องไม่ถูกหาก กมธ.เสียงข้างมากแก้เนื้อหามาตราอื่น อาจเป็นประเด็นต้องหาข้อยุติที่ศาลรัฐธรรมนูญเพราะ “แก้เกินมาตรา” และเนื้อหาที่ “รัฐสภารับหลักการ” ที่ถือเป็นพฤติกรรมที่ทำลายระบบรัฐสภา

162568844316

       อย่างไรก็ดีในประเด็น “แก้เกินหลักการ” ฝ่าย “พลังประชารัฐ” เตรียมตั้งรับ ศึกษากติกาที่เกี่ยวข้อง โดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน" ฐานะประธานกมธ. บอกว่า ในการประชุมนัดหน้า 13 กรกฎาคม จะพิจารณารายละเอียดพร้อมยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 ว่าด้วยการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรมนูญ ส่วนของวรรคท้ายที่กำหนดข้อปฏิบัติสำคัญ คือ

       “การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการที่เสนอแก้ไข เว้นแต่แก้ไขมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น”

       พร้อมกับให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาร่วมชี้แจงเจตนารมณ์ของวรรคท้าย ข้อ 124 ว่ากินความได้มากน้อยแค่ไหน

       เรื่องนี้ ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาให้ความเห็นเป็นเบื้องต้นว่า “กรอบข้อ 124 วรรคท้ายอนุญาตให้แก้เนื้อหามาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ขอแก้ไขได้ เพราะกันปัญหา และความขัดแย้งเมื่อนำกฎหมายไปปฏิบัติ แต่มีขอบเขตคือ แก้รายละเอียดเท่าที่จำเป็น เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ กมธ. พิจารณาขอแก้องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร ขอแก้การนับคะแนน หากจะแก้ไขมาตราเกี่ยวเนื่องต้องไม่เกินหลักการ 2 ประเด็นนี้"

162568844347

       เช่น เสนอแก้ มาตรา 81 เรื่ององค์ประกอบของส.ส. ให้มี ส.ส. เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งประเด็นองค์ประกอบนั้น รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 86 ด้วย ดังนั้นต้องแก้ไขให้สอดคล้อง

       หรือ ประเด็นปรับให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งร่างที่รัฐสภา รับหลักการไม่ระบุไว้ชัดเจน หากจะปรับ ต้องเสนอแก้มาตรา 83 และมาตรา 85 ว่าด้วยสิทธิลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่กำหนดไว้ว่า “ได้คนละหนึ่งคะแนน” เป็นต้น

       ส่วนที่บางฝ่ายติดใจว่า หากแก้เนื้อหาเกินไปกว่าสาระ 2 ประเด็นจะนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ “ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา” ยากจะคาดเดาอนาคตได้ เพราะเป็นประเด็นทางการเมืองที่ “ขั้วการเมืองแต่ละฝ่าย” ต้องคำนวณทิศทางและผลลัพท์ของฝั่งตัวเองให้ดี

       ดังนั้น หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ความพอใจของ หรือยังทำให้ฝ่ายใดรู้สึกว่ายุติธรรมตามสมควร หรือผู้มีอำนาจไม่อยู่ในภาวะ Winner- take-all ช่องทางที่นำไปสู่การล้มกระดาน “ระบบเลือกตั้ง” ยังเป็นไปได้

       เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว.

162568875983