'ซุปเปอร์' ดันไฮบริดเฟิร์ม โมเดลพลังงานสะอาด 'อีอีซี'

'ซุปเปอร์' ดันไฮบริดเฟิร์ม  โมเดลพลังงานสะอาด 'อีอีซี'

“ซุปเปอร์” ชูโมเดล “เอสพีพี ไฮบริดเฟิร์ม” ต้นแบบพลังงานสะอาด EEC ลดเสี่ยงส่งออกยุโรป-สหรัฐถูกเก็บภาษีคาร์บอน ลั่นมีศักยภาพพร้อมลงทุน 2 พันเมกะวัตต์ นำร่องลงทุน 2,000 ล้านบาท กำลังผลิตติดตั้ง 49 เมกะวัตต์

หลายประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยออกมาประกาศเป้าหมายกำหนดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นขึ้น เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ปี 2050 ซึ่งผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยพร้อมเสนอตัวสร้างต้นแบบการลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ประกาศเป็นพื้นที่สะอาด

จอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมความพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ซึ่งบริษัทซุปเปอร์บล็อกชนะประมูล 1 โครงการ ปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 16 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้ง 49 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าผสมผสานเชื้อเพลิงระหว่างโซลาร์ฟาร์ม 49 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 136 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และไบโอแก๊ส อีก 1 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท

โครงการนี้อยู่ที่ จ.สระแก้ว จะเริ่มสร้างปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 หลังจากได้สั่งซื้ออุปกรณ์และ ESS ที่จะส่งมาในไตรมาส 3 ปีนี้ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ปลายปี 2565 ซึ่งเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจะเป็น “โรงไฟฟ้าเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม” ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน เพราะเป็นการติดตั้งผสมผสานกับ ESS ขนาดใหญ่เทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์มาวางเรียงกัน 136 ตู้

อีกทั้ง ยังเป็นโครงการแรกของไทยที่นำกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มมาขายไฟฟ้าแบบเฟิร์มตลอด 24 ชั่วโมง ในต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าตามช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 2.88 บาทต่อหน่วย เป็นราคาต่ำที่สุด

“เอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม เราทำได้ วันนี้ เราจองแบตเตอรี่จากจีนแล้ว จองแผงแล้ว ที่ดินมีพร้อมแล้ว โครงการนี้จะสร้างใกล้กับโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว สายส่งก็คอนเฟิร์มแล้ว”

ทั้งนี้ แม้จะมี PPA 16 เมกะวัตต์ แต่ถ้าต้องการจำหน่ายไฟฟ้าได้ทั้งช่วง Peak และ Off-Peak ต้องมีกำลังผลิตติดตั้งสูงกว่า เพราะโซลาร์ฯ มีระยะผลิตไฟฟ้า 4.5-6 ชั่วโม ดังนั้น หากอยากขายได้ตลอดเวลาต้องมีติดตั้งกำลังผลิตเกินเพื่อนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงที่เกินความต้องการใช้ไปเก็บสำรองในแบตเตอรี่

ขณะที่ราคาแบตเตอรี่ปัจจุบันถูกลงมากและเอื้อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากเดิมช่วงแข่งประมูลโครงการนี้ เมื่อ 3 ปีก่อน ต้นทุนอยู่ที่ 4-5 แสนดอลลาร์ และเมื่อส่งมอบของไตรมาส 3 ปี2565 คาดว่าราคาอยู่ที่ 1.2-1.4 แสนดอลลาร์ ถูกลง 3 เท่า

162564510084

นอกจากนี้ หากโครงการนี้เสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท 230-250 ล้านบาทต่อปี และต่อเนื่องตลอด 20 ปี ตามอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 16% ส่วนเงินลงทุนโครงการนี้ 2,000 ล้านบาทนั้น บริษัทวางแผนจัดหาโดยจะใช้เป็นในส่วนของ Equity 25% และเงินกู้โครงการอีก 75% ซึ่งในส่วนของเรื่องเงินนั้นบริษัทมีความพร้อม

รวมทั้งโครงการนี้สำคัญกับประเทศมากเพราะเมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นการเปิดประตูสำหรับการลงทุนพลังงานสะอาด ที่ผลิตไฟฟ้าช่วง Peak ได้ในราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าหลัก (Base Load) อยู่ที่ 3.80-5.0 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่อไปการสร้างโรงไฟฟ้าต้องผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง และขายไฟฟ้าได้ตามความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูง เพื่อสำรองไฟฟ้าไว้ 

ดังนั้นต่อไปภาครัฐออก PPA โดยกำหนดให้ขายไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ต้องการได้ และการสร้างโรงไฟฟ้าลักษณะนี้ยังทำได้ทุกพื้นที่ด้วยการใช้โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ รวมถึงนำระบบ AI มาคำนวณช่วงระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าได้แม่นยำ

“เรามุ่งเป็นโครงการตัวอย่างเอาไปพัฒนาในอีอีซี เพราะถ้าอีอีซีเติบโตตามเป้าหมาย แล้วไปติดเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลง Cop 21 ซึ่งทุกคนต้องการปล่อยคาร์บอนลง ณ วันนี้ อีอีซีกำลังหาผู้ดำเนินการเพื่อทำพลังงานสะอาดไปตอบสนองความต้องการผู้ส่งออกไปยุโรปและสหรัฐจะไม่ถูกเก็บภาษีคาร์บอนเพราะใช้พลังงานสะอาด”

162564521767

ทั้งนี้ ปี 2565-2566 ยุโรปและสหรัฐประกาศเตรียมเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) สำหรับผู้ส่งออกสินค้า ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทำหนังสือถึงภาครัฐเพื่อให้ร่วมกันหาทางออก เพราะบางสินค้าถูกตั้งข้อกำหนด “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” และมีหลายซัพพลายเชนเริ่มได้รับผลกระทบ เช่น โตโยต้า กำลังถูกบีบให้เป็นพลังงานสะอาด และต้องไม่ปล่อยคาร์บอน 50-70% รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น เช่น เหล็ก อาหาร ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตในอีอีซีต้องการพลังงานสะอาด แต่หากไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ ก็อาจเห็นการย้ายฐานไปประเทศอื่น

นอกจากนี้ บริษัท พร้อมสนับสนุนกระจายความต้องการพลังงานสะอาด 100% ในอีอีซี หากภาครัฐมีเป้าหมายจะให้อีอีซีเป็น Clean Zone โดยผลิตไฟฟ้าและส่งจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงตามความต้องการของลูกค้าก็ Standby ไฟฟ้าได้ ด้วยราคาต้นทุนค่าไฟ 2.88 บาทต่อหน่วย โดยพร้อมลงทุนผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 1,000-2,000 เมกะวัตต์ ในอีอีซี ซึ่งผสมผสานเชื้อเพลิงหลายรูปแบบทั้งโซลาร์เซลล์ ไบโอแมส ลม และ ESS 

“เราเชี่ยวชาญผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ 5-6 ปีแล้ว มีกำลังผลิตใหญ่สุดในไทยและเวียดนาม สามารถบริหารจัดการและออกแบบได้ ถือว่าพร้อมต่อการลงทุนในอนาคต”

ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีอีซีคาดการณ์ได้ยากเพราะช่วง 1-3 ปีนี้ ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวจะทำให้ความต้องการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และการลงทุนในอีอีซีขยายตัวขึ้นจะทำให้ต้องการไฟฟ้าเพิ่มด้วยโดยเฉพาะพลังงานสะอาด

ขณะที่การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ และการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) นั้น มองว่ามีโอกาสที่ภาครัฐจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นไปถึง 40-50% จากปัจจุบัน อยู่ที่ 34-35% เพราะต้นทุนถูกลง และมี ESS มาช่วยแก้ปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียน