เด็กพิเศษ ‘Can Do’ กิจกรรมทางกายสร้างสุข 

เด็กพิเศษ ‘Can Do’ กิจกรรมทางกายสร้างสุข 

เด็กพิเศษ กิจกรรมทางกายถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสุขที่ครูและผู้ปกครองคือ หัวใจสำคัญหนุนให้พวกเขา "Can Do" จึงได้จัดทำคู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้น

ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปี 2564 พบว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญา จำนวน 142,667 ราย และมีแนวโน้มว่าจะพบเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาวะ การส่งเสริมให้เด็กกลุ่มนี้มีกิจกรรมทางกายจำเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสุขอยู่ร่วมในสังคม โดยครูพลศึกษาและผู้ปกครอง คือหัวใจสำคัญที่จะหนุนเสริมให้พวกเขา "Can Doจึงต้องมีการจัดทำคู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้น  

ในเสวนาออนไลน์พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา)และคู่มือการสอนเด็กกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง)จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมพลศึกษา และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม 

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ กล่าวว่า กรมพลศึกษาจึงได้ร่วมกับ สสส. มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดทำหลักสูตรอบรมครูสอนวิชาพลศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สำหรับครูพลศึกษาในโรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะให้ครูรู้จักการออกแบบกิจกรรมทางกายในวิชาเรียนให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กทั่วไป การสอนกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องให้เด็กพิเศษ จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาเด็กได้ตรงจุด โดยครูพละที่เข้าร่วมอบรมจบหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรจากรมพละศึกษา

162554282995

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับบุตร หลานที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยสามารถดาว์นโหลดคู่มือทั้ง 2 หลักสูตรได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : พลศึกษาเพื่อสุขภาวะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสสร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายฯ และคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลย หรือถูกเลือกปฏิบัติในรั้วโรงเรียนและสังคม โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 ร่วมกับกรมพลศึกษาผลักดันให้เกิดการจัดการอบรมขยายในวงกว้างให้ครูในโรงเรียนเรียนร่วมได้เพิ่มเติมศักยภาพในการสอนกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ จนส่งผลให้เกิดสุขภาวะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ และเผยแพร่คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ให้ถึงมือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อผู้ปกครองจะได้มีส่วนในการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่องที่บ้านต่อไป

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามีความสำคัญอย่างยิ่ง ผศ.ดร.มยุรี ศุภวิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ อธิบายว่า กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จะมีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ 

  1. ระดับสติปัญญาหรือไอคิวต่ำกว่า 70   
  2. มีความบกพร่องทางทักษะชีวิตประจำวัน อย่างน้อย 2 ใน 10 ด้าน เช่น การสื่อสาร การดูแลตนเอง การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย การเรียน การใช้เวลาว่าง เป็นต้น
  3. อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 18 ปี  ซึ่งจะมี 4 ระดับ คือ น้อย ปานกลาง รุนแรงและรุนแรงมาก ในกลุ่มน้อย หรือปานกลางค่อนข้างน้อยสามารถเรียน และโอกาสจบการศึกษาประถมฯ ปลายได้ ส่วนระดับปานกลางสามารถจบประถมฯ ต้นได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนทั้งแบบชั้นเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปและชั้นเรียนเฉพาะเด็กพิเศษที่เป็นชั้นเรียนคู่ขนาน  

การมีกิจกรรมพลศึกษาและกิจกรรมทางกาย จะสอดคล้องกันระหว่างเรื่องของสติปัญหาและการเคลื่อนไหว เช่น ทั่วไปเมื่อเห็นบ่อน้ำก็จะต้องกระโดดหรือก้าวข้ามเพราะเรารู้ แต่ในเด็กบกพร่องทางสติปัญญาจะไม่รู้ จึงต้องมีการฝึกเพื่อให้รู้ก่อน โดยการเคลื่อนไหวทั้งการเดิน การวิ่ง การกระโดด จะต้องทำให้ถูกต้องตั้งแต่เด็ก หากแก้ไขตอนโตจะทำได้ยากลำบาก และจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว เช่น หัวเข่า ส้นเท้า เป็นต้นผศ.ดร.มยุรีกล่าว    

162554307658    

ขณะที่ ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ อธิบายว่า กิจกรรมทางกาย คือ การเคลื่อนไหวร่างกายแบบใดก็ได้ ที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แขน ขา ลำตัว ที่ก่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะคนขาดกิจกรรมทางกายทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จำนวนมาก ในส่วนของเด็กวัยเรียน 6-18 ปี มีควรมีกิจกรรมทางกายทุกวัน วันละ 60 นาที เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย แต่ที่ผ่านมาเด็กไทยไม่ถึง 1 ใน 4 ที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ เมื่อขาดกิจกรรมทางกายในวัยเด็ก เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย เพราะไม่เคยทำมาก่อนในวัยเด็ก

กิจกรรมทางกายถือเป็นสิทธิของเด็กที่จะได้เล่น และมีสุขภาพที่ดี ซึ่งมีการระบุไว้ในบทบัญญัติของสหประชาชาติ  หากไปปิดกั้นอาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิของเด็ก นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายส่วน ระบุว่า หากมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ จะทำให้สมองถูกเปิดมากขึ้น รับความรู้ได้มากขึ้น และพัฒนาเรื่องความจำ ความเข้าใจของเด็กผศ.ดร.เกษม กล่าว  

.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า กิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวทางกาย เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดในการสร้างพัฒนาการของร่างกายเด็ก กระบวนการความคิดจะเกิดขึ้นได้ ล้วนมาจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อาจควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กปกติ กิจกรรมทางกายจะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกิจกรรม เช่น เด็กต้องทำอะไร ทำอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านการทดสอบ ยก จับ หิ้ว เหวี่ยง ขว้าง ปา ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้รู้ได้ว่า เด็กต้องการได้รับการพัฒนาด้านใด ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาทักษะเด็กให้ได้ตรงจุด ผ่านกระบวนการออกแบบการเคลื่อนไหว โดยผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจบริบทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย และผู้ปกครองต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาไม่ควรเพิ่มความกดดัน แต่ควรให้ความอบอุ่น