บอร์ดสสว. วางมาตรการช่วยเอสเอ็มอีทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิดรุนแรง

บอร์ดสสว. วางมาตรการช่วยเอสเอ็มอีทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิดรุนแรง

“ประยุทธ์”สั่ง บอร์ด สสว.วางนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม หลังโควิดกระทบหนัก เตรียมทำระบบลงทะเบียนกลาง ติดตามปัญหา แบบเร่งด่วน ผอ.สสว.เผย สัดส่วนเอสเอ็มอีต่อจีดีพีอยู่ที่ 35% รอประเมินผลกระทบไตรมาส2

"วีระพงศ์"ปลื้มโครงการดันยอดขายเอสเอ็มอีในงานภาครัฐเข้าเป้า ไตรมาสเดียวทำยอดพุ่ง 1.27 แสนล้าน จากเป้า 4 แสนล้านบาทภายในปีนี้ 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานวานนี้ (5 ก.ค.) ว่านายกรัฐมนตรีในฐานะประธานที่ประชุมได้สั่งการให้ สสว.ติดตามสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งในการกำหนดนโยบายขอให้มีนโยบายที่ครอบคลุมเอสเอ็มอีทุกๆภาคส่วนทั้งในภาคเกษตร วิสาหกิจชุมชน สถานประกอบการประเภทต่างๆ ซึ่งในการวางนโยบายขอให้กำหนดให้มีความชัดเจนในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังมีการเติบโตได้ เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่ยังติดขัดปัญหา เอสเอ็มอีที่เริ่มที่จะมีปัญหามาก และเอสเอ็มอีที่ไปต่อไม่ไหว ซึ่งต้องการกำหนดนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม 

ที่ประชุมฯได้รับทราบสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไตรมาสที่ 1/2564 ที่ผ่านมามีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563 ที่สิ้นปีอยู่ที่สัดส่วน 34.5% ส่วนผลกระทบของการระบาดโควิดในระลอกล่าสุดตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาจะต้องรอประเมินอีกครั้งภายหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 2 ช่วงเดือน ส.ค.ซึ่งสำนักงานฯจะนำไปคำนวณตัวเลขสัดส่วนเอสเอ็มอีอีกครั้งภายใน 3 สัปดาห์ 

ทั้งนี้เพื่อให้มีการติดตามสถานะและปัญหาของเอสเอ็มอีได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ขึ้น สสว.ได้เสนอโครงการฐานข้อมูลกลางสำหรับเอสเอ็มอีที่มีการจดทะเบียนไว้กับฐานข้อมูลที่แตกต่างกันเช่น จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ หรือจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน หรือระบบประกันสังคม ให้เข้ามาลงทะเบียนในระบบ Single Sign-On โดยจะพัฒนาต่อยอดจากแอพพลิเคชั่นของ สสว.ที่มีอยู่โดยปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลประมาณ 1.2 ล้านรายที่ได้ลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On จะมุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐและเอกชนในทุกภาคส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ประชุมฯให้รายงานผลความคืบหน้าทุกๆ 3 เดือน คาดว่าจะเริ่มใช้ได้เบื้องต้นในช่วงต้นปีงบประมาณ 2565 นี้ 

ผ.อ.สสว.กล่าวว่าในส่วนของนโยบายที่ สสว.ดำเนินการในปีนี้คือนโยบายการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดและได้รับงานของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้นโดยวางเป้าหมายให้มีเอสเอ็มอีมาลงทะเบียนเข้าโครงการ 1 แสนราย และมียอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ได้รับผลตอบรับดีมากโดยในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 55,000 ราย และมียอดขายในโครงการรวมแล้วกว่า 1.27 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังทยอยลงทะเบียนต่อเนื่องคาดว่าจะได้จำนวนผู้ประกอบการที่เข้าโครงการ และยอดขายของเอสเอ็มอีได้ตามเป้าอย่างแน่นอน 

อีกนโยบายซึ่งที่ประชุมฯเห็นชอบให้ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมาคือโครงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (BusinessDevelopment Service : BDS)หรือการจ่ายคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี เพื่อสร้างทางเลือกให้กับเอสเอ็มอีในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น โดยสสว.จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย(co-payment)มีสัดส่วนตั้งแต่ 50-80%

สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้นโดยต้องเป็นเอสเอ็มอีที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.