รฟม.เปิดชิง 'สายสีม่วงใต้' เอกชนสนแข่งบิ๊กโปรเจคแห่งปี

รฟม.เปิดชิง 'สายสีม่วงใต้' เอกชนสนแข่งบิ๊กโปรเจคแห่งปี

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) เปิดสนามชิงงานก่อสร้างบิ๊กโปรเจคของปี 2564 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท

โดยใช้วิธีประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารประกวดราคาได้ระหว่างวันที่ 5 ก.ค. 2564 - 7 ต.ค. 2564 และยื่นขอเสนอได้ในช่วงเดือน ต.ค.นี้

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จัดอยู่ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงคมนาคมกำหนดในมาสเตอร์แพลนอยู่แล้ว โดยเรื่องนี้ได้กำชับกับ รฟม.ให้เข้มงวดการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ประชาชน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะอยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เริ่มต้นโครงการนี้ให้เหมาะสมและไม่มีข้อขัดแย้งในภายหลัง

โครงการนี้เป็นงานก่อสร้างพื้นที่ในเขตเมือง การประกาศข้อกำหนดต่างๆ อยากให้ดูเรื่องเทคนิค เพราะแบบก่อสร้างจะเป็นอุโมงค์ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานทำเปิดเวทีรับฟังความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องเริ่มทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ข้อมูลทุกอย่างต้องเปิดเผยได้ ไม่ใช่ประมูลไปแล้วมีคนมาร้องเรียน อยากให้อธิบายให้เข้าใจก่อนเริ่มต้นโครงการ”

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และหลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อการลงทุนนั้น กระทรวงฯ ยืนยันว่าทุกโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ไม่ได้รับผลกระทบสะดุดต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะทุกโครงการถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนามาสเตอร์แพลนประเทศแล้ว และเชื่อว่าการลงทุนภาครัฐนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเอกชนจะให้ความสนใจร่วมประมูล

รายงานข่าวจากรฟม. เผยว่ามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากเอกชนเป็นอย่างดี เพราะโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหลังเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะเป็นโครงการสำคัญกระจายเม็ดเงินไปทุกระบบ ทั้งบริษัทรับเหมา อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนเกิดการจ้างงาน

สายสีม่วงจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่าช่วงโควิด-19 ไม่มีงานออกมา ไม่มีงานประมูลใหม่ๆ ที่จะช่วยผลักดันเม็ดเงินการลงทุน โดยการประมูลครั้งนี้ รฟม.เชื่อว่าจะไม่เกิดกรณีงานประมูลกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทรับเหมาใหญ่ เพราะมองว่าท้ายที่สุดจะเกิดการกระจายงานในลักษณะซับคอนแทรค”

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า การประมูลทุกโครงการ รฟม.กำหนดตามระเบียบของกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว ใช้ระเบียบการประกวดราคานานาชาติ เปิดกว้างให้เอกชนทุกกลุ่มสามารถร่วมเสนอราคาได้ แต่ต้องมีการกำหนดประสบการณ์ทำงานให้สอดคล้องกับโครงการ เพราะต้องยอมรับว่าโครงการรถไฟฟ้าเป็นงานที่ละเอียดอ่อน มีการขุดเจาะอุโมงค์ ดังนั้นเอกชนควรจะมีประสบการณ์ที่เหมาะสม แต่ท้ายที่สุดเอกชนก็สามารถร่วมกลุ่มกันและยื่นข้อเสนอ รวมทั้งไปกระจายงานก่อสร้างได้

162519339360

วิสุทธิ์ สุวรรณวิทย์เวช รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจใหม่และวางแผนกลยุทธ์ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR) กล่าวว่า บริษัทฯ ติดตามทุกโครงการลงทุนของภาครัฐ และสนใจที่จะเข้าซื้อซองเอกสารเพื่อมาศึกษา โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริษัทฯ ก็ยืนยันถึงความสนใจ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ มีประสบการณ์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยเป็นผู้รับเหมาช่วงจากบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

เราสนใจทุกโครงการที่รัฐจะเปิดประมูลอยู่แล้ว ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 15 – 20% จากปีก่อน รับรู้รายได้งานใหม่กว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่งานรถไฟฟ้าสายสีม่วง อาจจะต้องมีการหาพาร์ทเนอร์ในการยื่นข้อเสนอ เพราะเรามีประสบการณ์สร้างรถไฟฟ้าส่วนของงานสถานี ยังไม่มีประสบการณ์สร้างงานระบบ”

ด้านภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า แผนงานในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท โดยจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เพราะเป็นโครงการที่บริษัทฯ มีประสบการณ์ความถนัดอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2564 ประเมินว่าภาครัฐจะเร่งเปิดประมูลโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดโควิด-19 โดยบริษัทฯ พร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ