BANPU เปิดร่วง 12.82% หลังประกาศเพิ่มทุนเท่าตัว

BANPU เปิดร่วง 12.82% หลังประกาศเพิ่มทุนเท่าตัว

BANPU เปิดตลาดภาคเช้าร่วงต่ำสุด 12.82% อยู่ที่ 13.60 บาทต่อหุ้น “บล.เอเซีย พลัส” ชี้นักลงทุนกังวลผลกระทบไดลูชั่นจากการประกาศเพิ่มทุนเท่าตัว พร้อมวอแรนต์ มูลค่ารวมกว่า 3.1 หมื่นล้าน

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU วันนี้ (1 ก.ค.) เปิดตลาดภาคเช้าปรับตัวลง 12.82% หรือลดลง 2.00 บาท ทำจุดต่ำสุดที่ 13.60 บาทต่อหุ้น และยังเคลื่อนไหวในแดนลบอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า BANPU เพิ่มทุนครั้งใหญ่เท่าตัวจาก 5.07 พันล้านหุ้น เป็น 1.01 หมื่นล้านหุ้น (ราคาพาร์ละ 1 บาท) ระดมเงินทุนกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท (ถ้าใช้สิทธิวอแรนต์ครบ) ผ่านการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตรา 4 หุ้นเดิม ได้ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคา 5 บาท และแถมใบสำคัญแสดงสิทธิให้ผู้ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 3 ตัว ได้แก่ BANPU-W4 (1 ปี 5 บาท), BANPU-W5 (2 ปี 7.5 บาท) และ BANPU-W6 (3 ปี 7.5 บาท) โดยยังไม่ได้ระบุชัดเจนสำหรับโครงการลงทุนใหม่

โดยการเพิ่มทุนผ่าน RO และแจกวอแรนต์เพื่อรองรับการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยีพลังงาน

BANPU ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนจํานวน 5.07 พันล้านหุ้น เป็น 1.01 หมื่นล้านหุ้น โดยเป็นการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่จํานวน 5.07 พันล้านหุ้นเพื่อ 1. เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตรา 4 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ เป็นจำนวน 1.268 พันล้านหุ้น ที่ราคาเพิ่มทุน 5 บาทต่อหุ้น

2. รองรับการใช้สิทธิของใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่บริษัทจะออก และจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นในครั้งนี้โดยไม่คิดมูลค่า จำนวน 3 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ได้แก่ BANPU-W4 (อายุ 1 ปี ราคาใช้สิทธิ 5 บาทต่อหุ้น) BANPU-W5 (อายุ 2 ปี ราคาใช้สิทธิ 7.5 บาทต่อหุ้น) และ BANPU-W6 (อายุ 3 ปี ราคาใช้สิทธิ 7.5 บาทต่อหุ้น)

การเพิ่มทุนดังกล่าวกำหนดวัน XR (ซื้อหลังจากนี้ไม่ได้รับสิทธิเพิ่มทุน) ไว้ที่ 16 ส.ค.2564 ดังนั้นจากการประเมินของฝ่ายวิจัยเบื้องต้นในหลายๆ วิธี พบว่าราคาหุ้น BANPU หลัง XR จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 10-11 บาทต่อหุ้น ภายใต้สมมติฐานราคาปิดที่ 15.6 บาทต่อหุ้น (รวมผลกระทบจากทั้ง RO และวอแรนต์ทั้ง 3 ตัว) แต่ในส่วนของมูลค่าพื้นฐานนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ระดมทุนรวมกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี (ภายใต้สมมติฐานใช้สิทธิครบ) จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

ซึ่งทาง BANPU ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าจะนำไปลงทุนโครงการใด และให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าใด เพียงแต่ระบุว่าจะนำไปรองรับการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งในเบื้องต้นหากฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานให้ผลตอบแทนจากการนำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนอยู่ราว 10% (ROE) คาดมูลค่าพื้นฐานจากเดิม 13 บาทต่อหุ้น น่าจะลดลงมาอยู่ราว 9-10 บาทต่อหุ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องขึ้นกับผลตอบแทนจากการลงทุนจะได้ 10% ตามที่กำหนดสมมติฐานหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คาดทาง BANPU จะจัดประชุมนักวิเคราะห์ภายในวันนี้ (1 ก.ค.64) ซึ่งฝ่ายวิจัยจะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้คาดประเด็นดังกล่าวน่าจะกดดันราคาหุ้น BANPU ในช่วงสั้น จากผลกระทบของมูลค่าหุ้นมี่ลดลง (Dilution) ที่เกิดขึ้น แต่ภาพในระยะยาวยังต้องขึ้นอยู่กับโครงการที่จะไปลงทุนว่าจะสร้างผลตอบแทนกลับมาชดเชย Dilution ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปี ข้างหน้าได้หรือไม่