'ประยุทธ์' ดัน 7 แผนเคลื่อนไทย รับ 2564 ปีแห่งความท้าทาย

'ประยุทธ์' ดัน 7 แผนเคลื่อนไทย รับ 2564 ปีแห่งความท้าทาย

นายกฯ ชู 7 แผนเคลื่อนประเทศไทย ยอมรับ 2564 ปีแห่งความท้าทาย หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล-เพิ่มโอกาสคนรุ่นใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งบทความพิเศษให้ “กรุงเทพธุรกิจ”ในโอกาสครบรอบ 50 ปี หนังสือพิมพ์ The Nation 1 ก.ค. 2564 ในมุมประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (Thailand Tomorrow) โดยระบุว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุวิสัยทัศน์ ให้ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปี 2564 เป็นปีที่มีความท้าทาย เนื่องจากยังเป็นปีที่ต้องประคับประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งภายในและต่างประเทศ รัฐบาลยังมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องภายหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป โดยเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตดังกล่าวให้เป็นโอกาสในการนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถของประเทศได้

“เราควรใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการเดินหน้าประเทศไทย รวมไทยสร้างชาติ เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อจากนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านของประเทศไทย ประกอบด้วย 7 แผนงาน ได้แก่

แผนงานที่ 1 การสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางสังคม โดยรัฐบาลมุ่งเน้นการลดความยากจนควบคู่ไปกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยการขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงมาโดยตลอด และให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการต่างๆ กับประชาชนตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ได้แก่ การอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โครงการเรียนฟรี 15 ปี กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา โครงการสนับสนุนอาหารเสริม (นม) โครงการสนับสนุนอาหารกลางวัน โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับประชาชน การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

ส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน สะท้อนจากสัดส่วนคนจนของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ และดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น ดัชนีความยากจนหลายมิติ และสัดส่วนคนยากจนหลายมิติของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ถือได้ว่ารัฐบาลดำเนินการมาถูกทางแล้วในการสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส

  • เร่งแก้หนี้ประชาชนเบ็ดเสร็จ

การพลิกโฉมพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ประเทศไทยต้องการพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งไทยเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พร้อมเปลี่ยนผ่านไป สู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีคุณภาพสูง แต่การพัฒนาจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสทางสังคม และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่ม หัวใจสำคัญในการพัฒนาต่อไป จึงเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรง โดยประเด็นสำคัญที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้ความสำคัญและต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ได้แก่

การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างถูกวิธีและยั่งยืน โดยจะยกเครื่องแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนี้กองทุนให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. 3.6 ล้านคนและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้สินครูและข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี หนี้สินอื่นๆ อีก 51.2 ล้านบัญชี

  • ผุดบ้านพร้อมอาชีพ”แสนหลัง”

มาตรการดูแลด้านที่อยู่อาศัยและจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชน รัฐบาลมีมาตรการสร้างที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงเครือข่ายคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณสุข ในราคาไม่แพง ให้ประชาชนมีทั้งบ้านและเงินเหลือในการดำรงชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้ประชาชน เช่น โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” ภายใต้แนวคิด บ้านพร้อมอาชีพ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาค จำนวน 100,000 หน่วย “บ้านเช่า ทั่วไทย 999 บาท/เดือน” ในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑลและภูมิภาค 10,000 หน่วย เป็นต้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักหนี้ ลดเงินต้นที่ต้องจ่าย เพิ่มงวดการชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยหนี้

รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขของ พ.ร.ก. Soft Loan วงเงิน 250,000 ล้านบาท ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และออกมาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยลดภาระหนี้ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินรับโอนทรัพย์เป็นหลักประกันสินเชื่อ และผู้ประกอบการสามารถเช่าสินทรัพย์กลับไปประกอบธุรกิจต่อได้ รวมทั้งมีสิทธิซื้อสินทรัพย์คืนได้ นับเป็นกลไกที่ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถประคองกิจการ และรักษาการจ้างงานไว้ได้

162511390258

ทุ่มงบลงทุนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน

แผนงานที่ 2 การต่ออดโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญใน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ศ. 2558–2565) และก่อให้เกิดการลงทุนจริงจนมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2562 ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี ครอบคลุมการลงทุนไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนทุกทิศทางทั้งถนน ราง สนามบิน และ ท่าเรือ ระบบเครือข่ายพลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติที่ดีที่สุดในภูมิภาค

รวมทั้งการมีศูนย์นวัตกรรมและดิจิทัลภาคตะวันออก (EECi/EECd) และเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคและเขตอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเตรียมความพร้อมในการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้วางกรอบการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง- ตะวันตก เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ให้เป็นประตูการค้า ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ

ผลการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปี 2563 ตัวชี้วัดด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันที่จัดอันดับโดย IMD (International Institute for Management Development) ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการศึกษา

  • ตั้งเป้าผู้นำลดก๊าซเรือนกระจก

แผนงานที่ 3 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน หรือการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยจึงมีนโยบายการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ (ประมาณปีค.ศ. 2075/ พ.ศ. 2618) (ทั้งนี้อยู่ระหว่างการหาข้อสรุปในรายละเอียดต่อไป)เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลกและให้ประเทศไทยมีจุดยืนที่สอดรับกับประชาคมโลก นอกจากนี้การตั้งเป้าหมายดังกล่าวจะทำให้ความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้าลดลง และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้า (FTA) ในอนาคต

  • ลุยอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ดังนั้นประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมในคิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้าและภาคธุรกิจไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ต้องมีการปลูกป่าเพิ่มเติมเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกคู่ขนานไปด้วย โดยมี 5 เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) โดยมีแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษ ร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573

การผลิตไฟฟ้าโดยปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เป็น 50% ใน ปี 2593 ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลักดันให้มีการใช้และผลิตสินค้า และบริการคาร์บอนตํ่า เพื่อรักษาศักยภาพในการส่งออกของไทยไปยังประเทศพัฒนาแล้ว เช่น EU ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้นโยบายเก็บภาษีนำเข้าตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต้นทาง และ การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศจากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579

  • สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมเดิม

แผนงานที่ 4 อุตสาหกรรมเดิมต้องเข้มแข็งขึ้น เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในระยะต่อไป ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง รวมทั้งมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในเวทีสากล

แนวทางสำคัญประการหนึ่ง คือ การต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ โดยนำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ศูนย์กลางทางการแพทย์ ศูนย์กลางทางการขนส่งและโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน

อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ประเทศไทยประสบผลสำเร็จจากแนวนโยบาย “ระบบตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผสานกับนโยบาย“ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในปี 2562 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศจีน แต่รัฐบาลยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนต่อเนื่อง โดยการพัฒนาต่อยอดธุรกิจการเกษตร ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูงและการแปรรูปด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปอาหาร

ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ ประเทศไทยมีบริการทางการแพทย์และสุขภาพที่หลากหลายและมีคุณภาพติดอันดับ ในปี 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายในบริการสุขภาพ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ประกอบกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศในโลก และกระแสการให้ความสำคัญกับการดูและสุขภาพที่สูงขึ้น ทำให้ไทยมีแต้มต่อในการเป็น ‘ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ’

โดยขยายผลจากความเป็นเลิศจากโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงเรียนแพทย์ชั้นนำในไทยเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ให้ชาวต่างชาติมาใช้บริการการแพทย์ในไทยได้อย่างสะดวก ควบคู่ไปกับการอยู่อาศัยระยะยาวเพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทั่วโลก

ศูนย์กลางทางการขนส่งและโลจิสติกส์ ประเทศไทยมีความได้เปรียบทั้งทางด้านที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคและศักยภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีแนวระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคพาดผ่านมากที่สุด มีเส้นทางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่ครอบคลุม ได้มาตรฐาน และมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลัก

รวมทั้งมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นประตูการค้าการลงทุน และเป็นศูนย์กลางทางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคและสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายโลจิสติกส์ของโลกได้

ในภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการเดินทางและพฤติกรรมการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทใหม่ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การท่องเที่ยวไทย โดยมุ่งเน้นให้เป็นการท่องเที่ยวและบริการเชิงสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง เพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีรายจ่ายต่อหัวสูง รวมทั้งส่งเสริมกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่พำนักระยะยาว ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศ และทรัพยากรที่เอื้อต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในขั้นแรกรัฐบาลวางเป้าหมายการเตรียมการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องจังหวัดภูเก็ต หรือ Phuket Sandbox เพื่อช่วยสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกทางหนึ่ง และคาดหวังจะขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่อไป