4แนวทาง รักษา 'ผู้ป่วยโควิด-19' และชนิดของยาที่ใช้รักษา

4แนวทาง รักษา 'ผู้ป่วยโควิด-19' และชนิดของยาที่ใช้รักษา

การใช้ "ฟาวิพิราเวียร์" ถือเป็นแนวทางหลักในการรักษา "ผู้ป่วยโควิด-19" ในไทย ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาการใช้ "ยาไอเวอร์เม็กติน" หรือ "ยาถ่ายพยาธิ" ร่วมในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คาดว่าอีก 4 เดือนจะรู้ผล อย่างไรก็ตาม WHO ยังไม่รับรองให้ใช้ในการรักษาโควิด

ปัจจุบันแนวทางการรักษาโควิด-19 ของไทย มีการใช้ยา 4 ตัว ได้แก่ 'ฟาวิพิราเวียร์' โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และ คอร์ติโคสเตียรอยด์ รวมทั้ง ยาสมุนไพรไทยอย่าง ฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วยอาการไม่หนัก ล่าสุดมีการพูดถึง 'ยาไอเวอร์เม็กติน ซึ่งเป็นยาฆ่าพยาธิว่าสามารถรักษา 'ผู้ป่วยโควิด-19' ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาโควิดฯ เห็นควร เร่งศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน ในผู้ป่วยจริง จำนวนมากหลักพันราย ให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน

'ฟาวิพิราเวียร์' ('Favipiravir') ถือเป็นยาที่ถูกใช้เป็นยาหลัก ใการรักษาองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้มีการจัดหา สำรอง และกระจายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 21 มิ.ย. มีการนำเข้ามาสำรองในคลังเพิ่มไว้อีก 3,000,024 เม็ด และ ณ วันที่ 28 มิ.ย.มีการสำรองอยู่จำนวน 4,250,652 เม็ด เพื่อให้ผู้ป่วยมียาสำรองเพียงพอและรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอัตราการใช้ยานี้อยู่ที่ราวๆ 70,000-80,000 เม็ด/วัน

ที่ผ่านมามีการนำเข้ายาเม็ด 'ฟาวิพิราเวียร์' จาก 3 แหล่ง คือ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย โดยล่าสุด อภ.ยังมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ด'ฟาวิพิราเวียร์' โดยได้จัดหาวัตถุดิบคุณภาพจากบริษัทประเทศอินเดียและจีน เพื่อพัฒนาสูตรขยายสู่การผลิตในประเทศได้สำเร็จ โดยผลการศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล และผลการศึกษาชีวสมมูลเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าได้รับขึ้นทะเบียนในเดือนสิ่งหาคมนี้ เบื้องต้นจะสามารถผลิตได้เดือนละไม่น้อยกว่า 2 ล้านเม็ด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

  • แนวทางรักษา ผู้ป่วยโควิด-19

แนวทางการรักษา 'ผู้ป่วยโควิด-19' โดยกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง 25 มิ.ย. 64 ได้แบ่งผู้ป่วยโควิด-19 ตามกลุ่มอาการ 4 กรณี ดังนี้

1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการอื่นๆ หรือ สบายดี แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หากมีอาการปรากฎขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียง จากยา

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยได้ พิจารณาให้ “ฟาวิพิราเวียนร์” ตามดุลยพินิจของแพทย์

3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวมเล็กน้อย มีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น

แนะนำให้นอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด นาน 5 วัน หรือมากกว่า ตามความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อาจพิจารณาให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ร่วมกับ 'ฟาวิพิราเวียร์' ในกรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการและภาพถ่ายรังสีปอดที่แย่ลง

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม ภาวะลดลงของออกซิเจน แนะนำให้ 'ฟาวิพิราเวียร์' เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก อาจพิจารณาให้ lopinavir/ritonavir 5-10 วัน ร่วมด้วย (ตามดุลยพินิจของแพทย์) แนะนำให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์

162505820232

 

ในส่วนของสมุนไพรอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” มีการใช้ในผู้ป่วยอาการไม่หนัก โดยใช้ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลหรือยาเม็ดที่มีสารฟ้าทะลายโจรชนิดสารสกัด (extract) หรือผงบด (crude drug) คำนวณให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) 180 mg/คน/วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร กินติดต่อกัน 5 วัน (ถ้าจำนวนแคปซูลต่อครั้งมาก อาจแบ่งให้ 4 ครั้ง ต่อวัน เริ่มยาเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ

  • ศึกษา 'ไอเวอร์เม็คติน' รักษา 'ผู้ป่วยโควิด-19'

“นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโควิด-19 ด้วยการใช้ยา 'ไอเวอร์เม็กติน' ซึ่งเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า แนวทางการรักษาโรคโควิด-19ได้มีการปรับปรุงทุกเดือน ล่าสุด ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาให้ใช้ยาดังกล่าวได้นั้น เป็นเพียงแนวทางการรักษา แบบหมายเหตุ ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ใช้ยานี้โดยตรง หรือห้ามใช้รักษาโดยเด็ดขาด ซึ่งให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ และขอให้ปฏิบัติแนวทางการรักษาหลักของประเทศก่อน เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษา แม้มีการทดลองใช้รักษาในอินเดียก็เป็นเพียงการใช้ในระยะหนึ่ง และมีการประกาศยกเลิกการใช้แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินรักษาโควิดให้ผลสำเร็จในหลอดทดลองเท่านั้น

แนวทางการรักษาหลักของประเทศไทย เน้นการใช้ยา'ฟาวิพิราเวียร์' ส่วนการนำข้อมูลนี้ออกมาเผยแพร่ เชื่อว่าเกิดจากการอ่านรายงานทบทวนการศึกษาและทดลองในต่างประเทศที่ออกมาหลายฉบับ แต่ยังไม่มีประเทศไหนใช้อย่างชัดเจน โดยกลุ่มประเทศที่มีการใช้ ได้แก่ แอฟริกา เนื่องจากไม่มียา'ฟาวิพิราเวียร์' และการใช้ 'ยาไอเวอร์เม็กติน' ไม่ได้ให้ผลดีในคนไข้ทุกราย บางรายมีอาการแย่ลง แม้ยาไอเวอร์เม็กตินจะเป็นยาที่ปลอดภัย แต่ส่งผลต่อตับ ซึ่งคนไข้ไม่ใช่หนูทดลอง จึงไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ยานี้ จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจน                         

โดย ศ.เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ศบค. เห็นว่าควรนำเรื่องนี้ศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยมอบให้ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เร่งศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการใช้ 'ยาไอเวอร์เม็กติน' ในผู้ป่วยจริง จำนวนมากหลักพันราย ให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน

“การศึกษาต้องนำยาใหม่ และยาเก่ามาเปรียบเทียบกัน โดยใช้ 'ยาไอเวอร์เม็กติน' ร่วมกับ ยา'ฟาวิพิราเวียร์' เทียบกับสูตรยาเดิม แต่ไม่ขอระบุรายละเอียด แต่หลักการศึกษาเบื้องต้นจะใช้ใน รพ.ศิริราช และ รพ.สังกัดกรมแพทย์ในพื้นที่กทม. ส่วนที่รพ.ใดมีการใช้ไปทั้งรพ.เอกชน หรือ โรงเรียนแพทย์ ถือเป็นดุลยพินิจแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ ทุกครั้งที่มีการใช้ยาตัวนี้ ต้องมีการรายงานกลับมาที่กรมการแพทย์” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า 'ยาไอเวอร์เม็กติน' ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือ รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขณะนี้มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษา จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้ยาดังกล่าวเพื่อการรักษาโควิด-19 เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้