สหรัฐแชมป์ฟื้นตัวโควิดดีสุดอานิสงส์ฉีดวัคซีนเร็ว-มาก

สหรัฐแชมป์ฟื้นตัวโควิดดีสุดอานิสงส์ฉีดวัคซีนเร็ว-มาก

เกือบหนึ่งปีครึ่งที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หากตั้งคำถามว่าที่ไหนดีที่สุดและแย่ที่สุดในยุคโควิด ปัจจัยเดียวที่จะนิยามคำตอบได้คือ “การใช้ชีวิตเป็นปกติ”

สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดอันดับ 53 เขตเศรษฐกิจที่กำลังเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งได้อย่างดีที่สุด พิจารณาจากความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน ความรุนแรงของการล็อกดาวน์ เสริมด้วยสองมาตรวัดด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ความจุเที่ยวบินคำนวณจากจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 และเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว บ่งบอกถึงเสรีภาพในการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจากทั่วโลก

สหรัฐครองอันดับ 1 สะท้อนถึงการฉีดวัคซีนสูง การระบาดลดลง ความจุเที่ยวบินฟื้นตัวเกือบเต็มที่ คนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีข้อจำกัดการเดินทางเพียงไม่กี่อย่าง

ตอนนี้ร้านอาหารในสหรัฐคนเต็มร้าน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอีกต่อไป ชาวอเมริกันออกไปท่องเที่ยวกันอีกครั้งหลังจากประชากรครึ่งหนึ่งฉีดวัคซีนแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐส่อเค้าสดใสในปีนี้ อานิสงส์มาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และการฉีดวัคซีนช่วยปลุกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อิสราเอล ที่อยู่ในอันดับ 4 ฉีดวัคซีนให้ประชากรเกือบ 60% แล้ว ตอนนี้สามารถเข้าชมภาพยนตร์ ละคร และการแข่งขันกีฬาได้เหมือนเดิม จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงเหลือไม่กี่คนต่อสัปดาห์ เทียบกับช่วงเสียชีวิตสูงสุดที่กว่า 400 คนต่อสัปดาห์ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้องชะลอการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติออกไป

ในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ครองอันดับ 9 ลูกค้าแน่นผับ ประชาชนไปพักผ่อนวันหยุดในต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีสีเขียวได้ แม้ว่าการยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดที่มีกำหนดเดิมวันที่ 21 มิ.ย.ต้องเลื่อนเป็น 19 ก.ค.เพราะสายพันธุ์เดลตาก็ตาม

สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ฉีดวัคซีนให้ประชากร 40% เป็นประเทศที่เปิดรับนักเดินทางฉีดวัคซีนแล้วเร็วที่สุด ถ้าพิจารณาตามตัวชี้วัดเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว โรมาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ และสเปน เป็นประเทศที่เชื่อมต่อกับโลกมากที่สุด

ประเทศที่ปิดพรมแดนส่วนใหญ่ตลอดการระบาดอย่างอียิปต์และเม็กซิโกก็ได้คะแนนในหมวดนี้สูงเช่นกัน ในเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยการปิดประเทศเพื่อให้พ้นจากโควิด-19 มีคะแนนเปิดประเทศต่ำ การปิดพรมแดนและกำหนดให้ต้องกักตัวช่วยคุมไวรัสได้ก็จริงแต่ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น การไม่มีโควิดยังทำให้บางประเทศรู้สึกไม่จำเป็นต้องรีบฉีดวัคซีนด้วย เช่น นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ฉีดวัคซีนไม่ถึง 15% ของประชากร

“ที่หลบภัยโควิด” อย่างนิวซีแลนด์ อันดับ 2 และสิงคโปร์ อันดับ 13 ใช้การปิดประเทศและกักตัวยาวนาน เพื่อคุมจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าใกล้ศูนย์ ขณะที่การใช้ชีวิตของคนในประเทศส่วนใหญ่กลับสู่ปกติแล้ว แต่ยังไม่เปิดประเทศสู่โลกภายนอก เมื่อพบผู้ติดเชื้อแม้เพียงไม่กี่คนก็ต้องเข้มงวดกันอีก เช่น ซิดนีย์

ล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์หลังพบการติดเชื้อในชุมชนหลายสิบคน

ด้านจีนที่ปิดประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีคะแนนความจุเที่ยวบินสูง เที่ยวบินในประเทศมาชดเชยเที่ยวบินระหว่างประเทศ แตกต่างจากเขตเศรษฐกิจเล็กๆ ที่พึ่งพาการเดินทางเป็นหลักอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่ไม่มีตลาดเดินทางทางเครื่องบินภายในจึงได้คะแนนในด้านนี้ต่ำมาก

การฉีดวัคซีนในประเทศอย่างสหรัฐและยูเคชดเชยสิ่งที่เสียหายไปจนขยับอันดับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วการลงทุนด้านวิจัยและฉีดวัคซีนอย่างว่องไวเป็นตัวพลิกสถานการณ์ เห็นได้จากโครงการ Operation Warp Speed ของสหรัฐทุ่มเม็ดเงิน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ไปกับการพัฒนาวัคซีนเป็นสิ่งแรก

ประเทศที่รีบฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ เช่น อิสราเอล มีข้อได้เปรียบตรงที่ไม่ใช่แค่ป้องกันบุคคลไม่ให้มีอาการป่วย แต่ยังไม่ติดและไม่แพร่เชื้อด้วย แม้ยังมีแค่หลักฐานเบื้องต้นแต่วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมทำไม่ได้เท่ากับเอ็มอาร์เอ็นเอ ถึงแม้มีประสิทธิผลป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตจากโควิดได้ก็ตาม

ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว ความเชื่อมโยงระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อกับเสียชีวิตดูเหมือนจะลดลง และผู้กำหนดนโยบายกำลังปรับมุมมองที่มีต่อผู้ติดเชื้อโควิด

ขณะเดียวประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนเลยด้วยซ้ำ สาเหตุเพราะขาดอำนาจซื้้อจึงไม่ได้เป็นลูกค้าคิวแรก โครงการโคแวกซ์ ที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) สนับสนุนเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนให้มีวัคซีนฉีด ก็เริ่มกระจายวัคซีนเมื่อปลายเดือน ก.พ. ถึงตอนนี้กำลังเจอปัญหาขาดของจนหลายประเทศไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชน

“การที่โลกล้มเหลวในการแบ่งปันวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน หนุนให้เกิดการระบาดสองทาง (Two Track Pandemic) ที่ตอนนี้กำลังเล่นงานประชาชนที่ยากจนที่สุดและเสี่ยงที่สุดของโลก” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอกล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน

ภูมิคุ้มกันเหลื่อมล้ำส่อเค้าเป็นภัยคุกคามโลก ยิ่งไวรัสกระจายแบบคุมไม่อยู่ก็ยิ่งมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อันตรายขึ้น

โอกาสที่โควิดกลายพันธุ์เข้ามาในพื้นที่ที่ฉีดวัคซีนแล้วและจุดประกายให้เกิดการระบาดระลอกใหม่จึงเกิดขึ้นได้ ผู้นำประเทศตะวันตกที่เปิดเศรษฐกิจอีกครั้งอย่างสหรัฐต่างเตือนประชาชนที่ไม่ฉีดวัคซีนว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเร็ว

วิกฤติที่กำลังเติบโตในประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มแรงกดดันให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องเพิ่มความช่วยเหลือให้มากกว่านี้ ภาพชาวอเมริกันรวมตัวกันอย่างเริงร่าช่างแตกต่างกับฝูงชนในอินเดียที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยสักโดส