ภาคต่อ ‘บัตร 2 ใบ’ ‘โมเดล ปชป.’ ส่อฝันค้าง

ภาคต่อ ‘บัตร 2 ใบ’  ‘โมเดล ปชป.’ ส่อฝันค้าง

ภาคต่อ 'บัตรสองใบ' ในเวอร์ชั่นปชป.เวลานี้กำลังเผชิญแรงเสียดทาน ทั้ง 'เนื้อหา'ที่สุ่มเสี่ยงนำไปสู่การยื่นตีความ ซ้ำยังเกิด 'เกมชิงเหลี่ยม' ของบรรดาพรรคการเมืองที่อาจทำให้ร่างปชป.ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

“ภาคต่อ” ของกลเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ “บัตรสองใบ” ตามโมเดลของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) หลังผ่านด่านแรก ได้รับเสียงท่วมท้นจากที่ประชุมรัฐสภาเพียงร่างเดียวจาก 13 ร่าง เวลานี้กำลังเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ(กมธ.) มีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน

ทว่า เพียงแค่เริ่มต้นดูเหมือนว่าร่างแก้ไขฉบับ ปชป.กำลังเผชิญแรงเสียดทานอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่มีการแก้ไขอาจนำไปสู่การยื่นตีความในภายหลัง

ทั้ง มาตรา 83 แก้ไขจาก “บัตรหนึ่งใบ” เป็น “บัตรสองใบ” รวมทั้ง แก้ไขจำนวน ส.ส.ระบบเขตจาก 350 คน เป็น 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อจาก 150 คน เป็น 100 คน ที่อาจไปขัดแย้งมาตราอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกัน เช่น มาตรา 86 เกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.เขตพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

หรือการมาตรา 91 เรื่องการคำนวณหา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งร่างของ ปชป.ยกเลิกวิธีการคำนวณทิ้งหมด และระบุสั้นๆ ว่าให้ไปใส่วิธีการคำนวณไว้ในกฎหมายลูกเท่านั้น

ในมุมมองของพรรคเพื่อไทย อาทิ จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ มองว่า 

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ฉบับ ปชป.ดูทรงแล้วไปต่อยาก แก้ไม่สำเร็จ เพราะถ้าแก้แค่ 2 มาตราก็จะไปขัดแย้งกับอีก 8-9 มาตราจะบังคับใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจะแก้ทั้ง 8-9 มาตราไปพร้อมกัน ก็จะกลายเป็นเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญปี 60”

ยังไม่นับนับรวมความเคลื่อนไหวของ “ส.ว.กลุ่มหนึ่ง” ที่อาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อ้างร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีความขัดหรือแย้งกับมาตรา 86 (4) เรื่องการปัดเศษ ที่ระบุว่ามี ส.ส. 350 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดภาพของบรรดาพรรคการเมืองต่าง “ชิงเหลี่ยม” ในการเสนอตัวแทนเข้าไปนั่งในกมธ.หวัง “รื้อ-หั่น-ตัด-เพิ่ม” ตามโมเดลที่ตนเสนอ

ไม่ว่าจะเป็น “ค่ายพลังประชารัฐ” เวลานี้พยายามฟื้นระบบเลือกตั้งเวอร์ชั่นพรรคที่ถูกคว่ำไป ตอกย้ำชัดจากการส่ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย ในฐานะผู้เสนอญัตติแก้ไข ลงชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.

ฟาก“ประชาธิปัตย์” ก็ดูเหมือนจะอ่านเกมตรงนี้ขาด ส่ง “รุ่นเก่า-เก๋าเกม” มือวางอันดับต้นๆ ของพรรค อย่าง “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ชิงประธาน กมธ.หวังซ้อนแผนแก้เกมพลังประชารัฐ 

ไม่ต่างไปจาก “พรรคเพื่อไทย” แม้ร่างแก้ไขฯที่ตัวเองเสนอถูกตีตก ยังคงพยายามเดิมเกมโดยอาศัยฐานเสียง และกระแสมวลชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล มาเป็นตัวสร้างแรงต่อรองอีกทางหนึ่ง