เปิดประเภทกิจการที่จะได้รับ 'เงินเยียวยา' ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล

เปิดประเภทกิจการที่จะได้รับ 'เงินเยียวยา' ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล

ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการ "เยียวยา" กิจการที่ได้รับผลกระทบจากประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ในพื้นที่สีแดงเข้ม กทม.-ปริมณฑล 6 จังหวัด พร้อมเผยรายชื่อกิจการ-กิจกรรม ที่จะได้รับ "เงินเยียวยา" เช็คที่นี่

วันนี้ (29 มิ.ย.) คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงประเด็นมาตรการ "เยียวยา" ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ดังนี้

ในกรณีพื้นที่ กรุงเทพฯ - ปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 6 จังหวัด (กทม., นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี ,สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) หลังจากมีประกาศคำสั่งตามประกาศฉบับที่ 25 ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น รัฐบาลจึงคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่จะตามมา ในการประชุมวันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบหลักการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากประกาศข้อกำหนดตามฉับบที่ 25 ที่ได้ประกาศออกมาล่าสุด 

โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการช่วยเหลือ ได้แก่ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งมีหลัก ๆ คือ 4 กลุ่มกิจการ - กิจกรรม กำหนดระยะเวลาช่วยเหลือ 1 เดือน ได้แก่

1. กิจการก่อสร้าง/แคมป์ก่อสร้า :  ได้แก่ การก่อสร้างอาคาร/ที่พักอาศัย, ก่อสร้างถนน, ก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งหมดที่เป็นแคมป์คนงานขนาดใหญ่

2. กิจการที่พักแรม และร้านอาหาร

3. กิจการศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 

4. กิจการบริการด้านอื่นๆ ตามที่ประกันสังคมกำหนด : ในที่นี้หมายถึงกิจการร้านซ่อมและบริการด้านสุขภาพความงาม ได้แก่

- กิจการบริการด้านการซ่อมต่างๆ : เช่น ร้านซ่อมคอมฯ ร้านซ่อมมือถือ ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ร้านซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน ร้านซ่อมรองเท้า/เครื่องหนัง ร้านซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ร้านซ่อมนาฬิกา ร้านซ่อมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ร้านซ่อมจักรยานยนต์ ซ่อมเครื่องดนตรี/อุปกรณ์กีฬา

- กิจการบริการด้านความงาม/สุขภาพ : เช่น สปา การบริการลดน้ำหนัก บริการแต่งผม บริการดูแลความงาม แต่งเล็บ บริการซักรีด บริการดูแลสัตว์เลี้ยงต่างๆ

โดยย้ำว่ากิจการ-กิจกรรมทั้งหมดเหล่านี้ ก็จะเข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยาครั้งนี้ด้วย

ส่วนในรายละเอียดมาตรการ "เยียวยา" กรณีพิเศษนี้ มีข้อมูลบางจุดที่จะต้องชี้แจงเพิ่มเติม คือ 

1. ครม. เห็นชอบในหลักการในการเยียวยากลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เป็นสัญชาติไทย ในระบบ "ประกันสังคม" จะได้รับเงินเยียวยาเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

โดยเพิ่มเติมหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านระบบ "ประกันสังคม" อยู่แล้ว ในกรณีนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่

2. ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ที่มีลูกจ้าง เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ตามกฎหมาย "ประกันสังคม" ก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเช่นกัน โดยจะได้เงินเยียวยา 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างที่มี สูงสุดไม่เกิน 200 ราย หรือไม่เกิน 600,000 บาท ตามจำนวนลูกจ้างที่ได้ลงทะเบียนไว้ในระบบเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33

3. ผู้ประกอบการที่ ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง แต่อยากได้ความช่วยเหลือตรงนี้ ให้ไปลงทะเบียนในแอพฯ "ถุงเงิน" ผ่านโครงการคนละครึ่ง ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2564 ก็จะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทนี้ด้วย

4. ในกรณีที่ผู้ประกอบการที่อยู่ในหมวดร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ที่ลงทะเบียนร่วมโครงการคนละครึ่งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทเช่นกัน

5. สำหรับมาตรการเยียวยาอื่นๆ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วง ก.ค.- ธ.ค.  2564 ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3, โครงการคนละครึ่งเฟส 3, โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 

6. ให้กระทรวงแรงงานประสานความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหาร ในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้บริการจากร้านอาหารรายย่อย เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานที่พักอาศัยชั่วคราวในแคมป์คนงาน ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้างด้วย

7. การช่วยเหลือเยียวยาในระยะต่อไป ให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง (SMEs) ทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้มาลงทะเบียนในระบบประกันสังคม

8. มอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดดควิด-19 ตามความเหมาะสมต่อไปในอนาคต

----------------------------

ที่มา : มติ ครม. 29 มิ.ย.64