‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่31.93บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่31.93บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มของค่าเงินบาทอ่อนค่าจากความกังวลโควิด- 19ในประเทศกดดันนักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย ขณะที่ตลาดการเงินระวังตัวมากขึ้น เริ่มขายทำกำไร คาดวันนี้เงินบาทที่ระดับ 31.85- 32.00บาทบาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.93 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.93 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.85-32.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท  ประเด็นสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง

ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่

ทั้งนี้ ควรจับตาแนวต้านสำคัญของเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว ในเชิงเทคนิค ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้

อนึ่ง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยคุมไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน

จากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options

เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น และเริ่มเห็นการทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงในธีมCyclical Trades มากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดการเงินมีความกังวลต่อปัญหาการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์ Delta ที่ได้กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศจากการเลื่อนแผนผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และยังทำให้รัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางจากประเทศอังกฤษ

แรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Cyclical ได้กดดันให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลดลงกว่า -0.44% ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ที่ย่อตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.48% (โดยรวมยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways) ได้หนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.98% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.23% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Facebook หลังสามารถชนะคดี Antitrust

ส่วน ทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดจากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า-0.75% นำโดยการปรับตัวลงหนักของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยงและการเดินทาง อาทิ  Amadeus -4.45%, Airbus -2.92%

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการเงินก็เผชิญแรงขายหนักเช่นกัน ตามการขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical (Safran -4.45%, Santander -2.77%, ING -2.47%) ขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen +1.6%, Infineon Tech. +0.89%, ASML +0.84% ปรับตัวขึ้นตามหุ้นเทคฯในฝั่งสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆอาจชะลอลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สวนทางกับภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 91.87 จุด กดดันให้ เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงแตะระดับ1.387 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ขณะที่ เงินยูโร (EUR) ยังสามารถทรงตัวที่ระดับ 1.192 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการรายงานข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) จากทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป โดยในฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นยังได้หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 119 จุด ชี้ว่าการบริโภคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ตลาดจะติดตาม มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Randal Quarles ซึ่งเป็นหนึ่งใน Voting member ของ FOMC

ส่วนในฝั่งยุโรป แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังสดใส หลังการแจกจ่ายวัคซีนคืบหน้ามากขึ้น (ครอบคลุมประชากรเกือบ 40% และ อาจใช้เวลา 3 เดือน เพื่อครอบคลุมประชากร 75%) หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(Consumer Confidence) เดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -1.0 จุด สะท้อนว่าการบริโภคของครัวเรือนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง