ไฮสปีดจีนถึงเวียงจันทน์ กลไกเคลื่อนสินค้าเกษตรไทย

ไฮสปีดจีนถึงเวียงจันทน์ กลไกเคลื่อนสินค้าเกษตรไทย

การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว-จีน) ที่จะเปิดให้บริการเดินรถในเดือนธ.ค.ปีนี้

หลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (​มหาชน) กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูง จีน-สปป.ลาว ที่จะเปิดให้บริการในสิ้นปีนี้จะมีประโยชน์กับการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เช่น ผัก ผลไม้ กล้วยไม้ กุ้ง เป็นต้น โดยเป็นสินค้าที่ขนส่งโดยรถยนต์ และทางอากาศในปัจจุบันแต่เปลี่ยนมาใช้บริการรถไฟความเร็วสูงก็จะสามารถขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น แต่ค่าบริการต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะต่างกันมาก หรือน้อยเพียงใด

สำหรับยางพารา ซึ่งส่งออกเป็นสินค้าแปรรูป มีอายุการจัดเก็บได้นาน ประกอบกับมีการซื้อล่วงหน้าสามารถส่งแผนการส่งออกได้ และใช้บริการขนส่งทางเรือ เหมาะสมที่สุด เพราะได้ครั้งละปริมาณมาก ราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถ และทางรถไฟความเร็วสูง

“การมีรถไฟเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องดี มีดีกว่าไม่มี จะส่งผลให้การเดินทางสะดวกขึ้นการท่องเที่ยวก็จะกลับเข้ามา แต่ทั้งนี้ไทยควรเร่งรัดการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าวให้เร็วด้วย”

เมื่อเร็วๆนี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า  ได้เห็นชอบ กรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว – จีน และ การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ในฐานะผู้ประสานงานหลักภายใต้กรอบความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไทย-จีน(SPS Focal Point) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯและกรมวิชาการเกษตร

เร่งรัดการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค และตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่ 3 พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางเจรจาเพิ่มเติมด่านนาทา จังหวัดหนองคาย ในเอกสารแนบท้ายพิธีสารฯ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมฯ โดยมอบหมายให้ มกอช.เป็นประธานคณะทำงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เป็นคณะทำงานและมีผู้แทนมกอช. เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมในภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯในระยะเร่งด่วนที่ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมการให้บริการและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อรถไฟเปิดให้บริการแล้ว

162488260181

ในระยะต่อไป เร่งหาแนวทางการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน โดยเจรจาและใช้กลไกทางการทูตเพื่อให้มีการลงนามในพิธีสารได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งเร่งเจรจาเพิ่มด่านนาทา และด่านศุลกากรหนองคาย ในเอกสารแนบท้ายพิธีสารฯ เพื่อให้สามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศที่สามได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้บริการ

สำหรับการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรตลอดห่วงโซ่ระยะยาวนั้น ได้เห็นชอบกรอบและกระบวนการการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2566-2570 โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามกรอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ และยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรพ.ศ. 2566-2570 เสนอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

รวมทั้งการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) และปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร