'สปสช.' ชวนประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' ฉีด 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่'

'สปสช.' ชวนประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' ฉีด 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่'

'สปสช.' ชวนประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' ฉีด'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' ควบคู่ 'วัคซีนโควิด-19' ลดภาวะความรุนแรงของโรคและอัตราเสียชีวิตได้ แนะฉีด'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' หรือ'วัคซีนโควิด-19' ก่อนก็ได้ แต่เว้นระยะเวลาฉีดห่าง 2 สัปดาห์

วันนี้ (28 มิ.ย.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('สปสช.') กล่าวว่า การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องตระหนัก โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคที่รุนแรงหากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 การฉีด 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากทั้งสองโรคมีอาการคล้ายคลึงกัน ส่งผลต่อการตรวจและรักษาได้

ทั้งผู้ป่วยโควิด-19 หากติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จะทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงอัตราการเสียชีวิตย่อมสูงขึ้นด้วย ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ หากติดเชื้อโควิด-19 จะช่วยลดระยะเวลาการรักษาและนอนในโรงพยาบาลได้

ทั้งนี้ สปสช. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมดำเนินการเพื่อให้ประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' ทุกสิทธิเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เริ่มให้เข้ารับบริการฉีดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมรณรงค์ให้ประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' ตระหนักและเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

“ขณะนี้ประชาชนให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศโดยเร็ว แต่ในส่วนประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' ย้ำว่าต้องไม่ลืมที่จะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย เพราะหากได้รับเชื้อไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็ตาม 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' จะช่วยลดความรุนแรงจากอาการแทรกซ้อนได้” เลขาธิการ 'สปสช.' กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนการปฏิบัติในการรับ 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' และ 'วัคซีนโควิด-19' นั้น ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถรับบริการฉีดวัคซีนชนิดใดก่อนก็ได้ โดยเว้นระยะห่างระหว่าง 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' และ 'วัคซีนโควิด-19' อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และสามารถให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ระหว่างวัคซีนโควิด เข็มที่ 1 และ 2 ได้

“จากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ เรามีความห่วงใยต่อประชาชน '7 กลุ่มเสี่ยง' อย่างยิ่ง นอกจาก 'วัคซีนโควิด-19' แล้ว ท่านต้องรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะรุนแรงของโรคให้กับตัวท่านเอง ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ก็ยังเป็นปัญหาสุขภาพ ซึ่งในปี 2564 ได้จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 6.4 ล้านโดส เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ฉีดวัคซีนยังเป็นการลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว