'เปิดประเทศ' 120 วัน ต้องมี 'แผนสอง'

'เปิดประเทศ' 120 วัน ต้องมี 'แผนสอง'

มาตรการ "เปิดประเทศ"  ถึงขณะนี้ความกังวลมีมากขึ้น ถ้าก่อน 120 วัน สถานการณ์ออกมาไม่ดีหรือแย่กว่าที่ประเมินไว้ ทางการก็ต้องมี "แผนสอง" เพื่อบริหารความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจและคนในประเทศ

เสียงตอบรับมาตรการ "เปิดประเทศ 120 วัน" ถึงขณะนี้ความกังวลมีมากขึ้น เพราะสถานการณ์ระบาดในประเทศไม่ดีขึ้น จึงห่วงว่า ถ้าการระบาดยืดเยื้อ การเปิดประเทศอาจทำให้การระบาดในประเทศยิ่งรุนแรง เรื่องนี้รัฐบาลคงตระหนักเพราะประเมินตอนแถลงข่าวเปิดประเทศว่า จะสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ที่ต้องเปิดเพราะห่วงเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเป็นอยู่ของบุคลากรในภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากจากโควิด

ในแง่นโยบาย นี่คือการตัดสินใจที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีผลเสียของมาตรการ และถ้าก่อน 120 วัน สถานการณ์ออกมาไม่ดีหรือแย่กว่าที่ประเมินไว้ ทางการก็ต้องมีแผนสองเพื่อบริหารความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจและคนในประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

วิกฤติคราวนี้เป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าเราหยุดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤติไม่ได้ ปัญหาเศรษฐกิจก็จะแก้ไม่ได้ กล่าวคือเศรษฐกิจจะฟื้นไม่ได้ถ้าการระบาดของโควิดยังมีอยู่ ทำให้การหาจุดร่วมระหว่างการระบาดกับเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องยาก

ด้วยเหตุนี้ วัคซีนจึงเป็นคำตอบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้การระบาดชะลอลง อัตราการเสียชีวิตลดลง และประชาชนกลับมาทำงานและใช้ชีวิตได้เหมือนปกติมากสุด ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นก็เมื่อประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็ม และอัตราการแพร่ระบาดจะเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญถ้าการฉีดวัคซีนในประเทศทำได้มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากร

มาตรการเปิดประเทศจึงตั้งอยู่บนข้อสมมติสำคัญสองเรื่อง 1.สถานการณ์ระบาดหลังเปิดประเทศจะสามารถควบคุมได้ 2.ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศมีมากกว่าความเสี่ยงที่การระบาดจะเพิ่มมากขึ้นหลังเปิดประเทศ นี่คือ 2 เรื่องที่ต้องเกิดขึ้น

ในประเด็นแรก การระบาดหลังเปิดประเทศจะควบคุมได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัย

1. จังหวะที่จะเปิดประเทศ หรือ Timing คือ การเปิดประเทศช่วงที่การระบาดในประเทศเป็นขาลง จะทำให้การควบคุมการระบาดหลังเปิดประเทศทำได้ง่ายกว่ากรณีที่การระบาดในประเทศเป็นขาขึ้นตอนเปิดประเทศ คือยังไม่ผ่านจุดสูงสุด เพราะจะทำให้สถานการณ์ระบาดในประเทศอาจยิ่งรุนแรง ดังนั้น ตัวเลขที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันและอัตราการแพร่ระบาดหรือ R ศูนย์ ซึ่งควรมีค่าต่ำกว่าหนึ่งถ้าจะลดการระบาด ตัวเลขเหล่าต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อประเมินแนวโน้มการระบาดก่อนเปิดประเทศ

2. การฉีดวัคซีน ซึ่งควรทำให้ได้มากกว่าร้อยละ 20 และไปให้ได้มากสุดก่อนเปิดประเทศ ปัญหาวัคซีนขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่การฉีด แต่อยู่ที่จำนวนวัคซีนที่มีว่าจะเพียงพอหรือไม่ และจะกระจายอย่างไร เพื่อสร้างประสิทธิผลในการป้องกันการระบาดได้มากสุด

3. สมรรถภาพของระบบสาธารณสุข ที่จะดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังเปิดประเทศ ทั้งในแง่จำนวนเตียง ห้องฉุกเฉิน อุปกรณ์ ยา เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือแพทย์และบุคลากร สิ่งเหล่านี้ต้องพร้อมอย่างมากก่อนเปิดประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนและทรัพยากรของชาติ

4. รูปแบบที่จะเปิดประเทศ จะเปิดประเทศอย่างไร เปิดเฉพาะนักท่องเที่ยว หรือเปิดทั่วไป เปิดเฉพาะพื้นที่ เช่น จังหวัดท่องเที่ยว หรือเปิดทั่วไป จะเปิดโดยมีมาตรการป้องกัน กักตัว รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ควบคุมไปด้วยหรือไม่ หรือจะเปิดแบบไม่ควบคุม และมาตรการเหล่านี้จะใช้กับคนในประเทศด้วยหรือเปล่า รวมถึงธุรกิจจะเปิดทำการได้อย่างปกติหรือไม่หลังเปิดประเทศ คำถามเหล่านี้ต้องมีคำตอบเพราะสำคัญมากต่อการประเมินผลได้ผลเสียของการเปิดประเทศ และความสามารถที่จะควบคุมการระบาด

5. ความร่วมมือของประชาชนที่จะช่วยลดการระบาด ทั้งการใช้ชีวิต รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากหลังเปิดประเทศว่าจะระมัดระวังอยู่หรือไม่ เพราะในต่างประเทศมีตัวอย่างชัดเจนว่าการระบาดกลับมาใหม่ได้เร็วเมื่อประชาชนลดความระมัดระวัง

นี่คือ 5 ปัจจัยที่จะมีผลต่อความสำเร็จในการควบคุมการระบาดหลังเปิดประเทศ เห็นได้ว่ายังมีคำถามอีกมากและหลายเรื่องยังไม่ชัดเจน อีกทั้งหลายเรื่องต้องพิจารณาด้วยเหตุผลทางการแพทย์อย่างระมัดระวัง เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบก่อนเปิดประเทศ

ในส่วนของประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ จากที่การเปิดประเทศมุ่งให้มีนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คำถามคือนักท่องเที่ยวจะมามากน้อยแค่ไหน วงเงินที่จะได้จากนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะมากแค่ไหน และจะกระจายไปหลายพื้นที่หรือกระจุกตัวเป็นบางจังหวัด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับวิธีเปิดประเทศที่ทางการจะประกาศ ซึ่งถ้าเปิดมากความเสี่ยงที่การระบาดในประเทศเพิ่มขึ้นก็จะมากตามไปด้วย เป็นประเด็นที่ต้องตระหนัก

ก่อนปี 2563 นักท่องเที่ยวที่มาประเทศเรามากสุดคือนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซีย และอินเดีย เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่มาก เป็นนักท่องเที่ยวแพ็คเกจทัวร์ อีกกลุ่มคือนักท่องเที่ยวจากยุโรปประเภทไฮเอนด์ที่มาพักเพื่อหนีอากาศหนาวตามฤดูกาล กลุ่มหลังนี้จะกระจุกตัวอยู่ในสถานที่อย่างภูเก็ต สมุย หัวหิน

ถึงปัจจุบันมีการประเมินว่าธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกจะไม่กลับมาเป็นปกติจนปี 2567 เมื่อธุรกิจสนับสนุนต่างๆ เช่น การบินฟื้นตัว สำหรับภายในประเทศเองสถานการณ์โควิดทำให้บริษัททัวร์ในประเทศต้องปิดลงเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้จากมาตรการเปิดประเทศ จะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการว่ามีลู่ทางที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งยังไม่ชัดเจน และไม่ชัดเจนว่าทางการจะเปิดกว้างรับ “นักท่องเที่ยว” จากทุกประเทศ หรือจะจำกัดเฉพาะประเทศที่มีการระบาดต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการระบาดในประเทศและระบบสาธารณสุขของเรา

เห็นได้ว่าความไม่แน่นอนและความไม่ชัดเจนยังมีมาก ทั้งในรายละเอียดของมาตรการที่จะทำและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระบาดในโลกว่าจะเป็นอย่างไร 4 เดือนจากนี้ไป ทำให้ทางการต้องติดตามสถานการณ์ระบาดอย่างใกล้ชิด มีตัวแปรหรือดัชนีที่ติดตามเป็นประจำ เพื่อประเมินสถานการณ์และถ้าตัวแปรหรือดัชนีเหล่านี้แย่กว่าที่ประเมินไว้เดิม ที่จะทำให้มาตรการเปิดประเทศสร้างความเสี่ยงต่อคนในประเทศมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ก็มีเหตุผลที่ทางการต้องพิจารณาทบทวน เลื่อน หรือปรับปรุงรูปแบบการเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อประเทศ

ในลักษณะนี้การมี “แผนสอง” ไว้ในมือจึงจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญยิ่งถ้าสถานการณ์ต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย แผนสองที่ควรมีก็เพื่อให้คำตอบว่าทางการจะฟื้นเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มเติมอย่างไร ถ้าการเปิดประเทศจำเป็นต้องเลื่อน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ เป็นการบริหารความเสี่ยงของการทำนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับภาคธุรกิจ

ในเรื่องนี้ แผนสองควรเน้นการสร้างงานให้บุคลากรในธุรกิจท่องเที่ยวมีงานทำ เน้นการเคลื่อนย้ายทรัพยากรแรงงานออกจากธุรกิจท่องเที่ยวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว เช่น ธุรกิจส่งออก ช่วยโดยการปรับทักษะแรงงาน เน้นการสร้างโอกาสใหม่ให้แก่บุคลากรในธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ ค้าขายส่วนตัว กลับไปทำการเกษตร หรือต้องการปรับทักษะแรงงานเพื่อเปลี่ยนอาชีพ

โดยทางการสนับสนุนเรื่องสินเชื่อและอุดหนุนให้มีรายได้ชั่วคราวเป็นเงินเดือนเพื่อใช้จ่ายในช่วงปรับทักษะแรงงาน ขณะเดียวกันรัฐก็ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นลงทุนในเมืองท่องเที่ยว เพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคต่างๆ เตรียมรับนักท่องเที่ยวในอนาคต

เหล่านี้คือส่วนของแผนสองที่ทางการควรเตรียมไว้ ถ้าสถานการณ์ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เอื้อต่อการเปิดประเทศ จะเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ประชาชนเข้าใจและพร้อมสนับสนุน