ทอท.เร่งลงทุนระบบอัตโนมัติ 6 ท่าอากาศยานเสร็จปีหน้า รับผู้โดยสารฟื้น

ทอท.เร่งลงทุนระบบอัตโนมัติ 6 ท่าอากาศยานเสร็จปีหน้า รับผู้โดยสารฟื้น

ทอท.เดินหน้าปรับโฉมท่าอากาศยานรับการเดินทางวิถีใหม่ ดึงเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือบริการผู้โดยสาร นำร่องท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนพัฒนาต่อเนื่องครบ 6 แห่งภายในปี 2565 รับผู้โดยสารฟื้นตัว

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.เตรียมความพร้อมบริหารจัดการท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเดินทางวิถีใหม่ หรือ New normal ภายใต้กฎเกณฑ์ระบบสาธารณสุข ลดคน ลดการสัมผัส โดย ทอท.ได้เร่งพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงบริการ ทำให้สนามบินเป็นสนามบินมีชีวิต

“ดิจิทัลดิสรัปชั่น ไม่ว่าจะเกิดโควิดหรือไม่เกิด ต้องบอกก่อนว่าดิสรัปชั่นมาแล้ว แต่โควิดเร่งให้เกิดในมิติ ที่นอกจากการให้บริการ มีเรื่องระบบสาธารณสุขเข้ามา ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมา ทอท.เราพัฒนาสนามบินกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด มีเรื่องไอทีกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ เช่น บริการที่จอดรถ”

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทอท.ได้ต่อยอดเชื่อมต่อระบบจากเทคโนโลยีที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ เรียกว่า Brownfield ซึ่งมีการพัฒนาเป็นกลุ่มๆ บริการที่หลากหลายอยู่แล้ว ทั้งบริการที่จอดรถ นำมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบใหม่ที่พัฒนา เรียกว่า Green field สามารถให้บริการผ่านมือถือ เช่น การเช็คอิน การโหลดกระเป๋า และการตรวจบัตรโดยสาร ผ่านอุปกรณ์อัตโนมัติ

162461021343

นายนิตินัย ยังกล่าวอีกว่า หลังเปิดน่านฟ้าจะเริ่มเห็นบริการเทคโนโลยีของท่าอากาศยานเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยปัจจุบัน ทอท.ได้ทดลองติดตั้งอุปกรณ์ จำนวน 180 เครื่อง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนจะเริ่มทยอยติดตั้งระบบใหม่อย่างต่อเนื่องให้ครบ 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ภายในปลายปี 2565 สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ต เบื้องต้นจะได้ใช้บริการในเดือน เม.ย.- พ.ค.2565 

ในส่วนของระบบเทคโนโลยีที่ ทอท.ได้ลงทุนติดตั้งใหม่นี้ ระบบการเช็คอินของผู้โดยสาร แบ่งเป็น

1. ผู้โดยสารที่ไม่มีสัมภาระ สามารถเช็คอินได้ด้วยตนเอง ด้วยระบบ Self Check-in (Kiosk) ที่เชื่อมต่อกับ AOTs Applications หรือผู้โดยสารสามารถทำการเช็คอินจากที่บ้านก่อนการเดินทางมายังสนามบิน

2.กรณีที่ผู้โดยสารต้องโหลดสัมภาระ ซึ่งโดยปกติผู้โดยสารจะต้องไปที่เคาท์เตอร์ของสายการบิน และมีใบอนุญาตผ่านขึ้นเครื่อง (บอร์ดดิ้งพาส) หลังจากนี้ บริเวณจุดตรวจบัตรโดยสารจะใช้ระบบรักษาความปลอดภัยจากเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล (Biometric Security System) ในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งจะมีการถ่ายภาพใบหน้า เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยงข้อง

อีกทั้ง กรณีที่ผู้โดยสารมีสัมภาระ จะมีการติดตั้งระบบเครื่องโหลดสัมภาระแบบบริการตนเอง (Self-Service Luggage Loader) ซึ่งหากสัมภาระมีน้ำหนักเกินที่กำหนด สามารถชำระด้วยบัตรเครดิต ณ จุดบริการนั้นได้ทันที และก่อนขึ้นเครื่องบิน ตามปกติจะใช้การตรวจบัตรประชาชนของผู้โดยสาร แต่ในอนาคตจะใช้ระบบสแกนใบหน้า ซึ่งเป็นระบบไบโอเมตรทริกซ์แทน ช่วยลดระยะเวลา และบริการรองรับการเดินทางวิถีใหม่ตามมาตรการด้านสาธารณสุข

นายนิตินัย เผยด้วยว่า ทอท.ประเมินว่าในปี 2565 ผู้โดยสารจะฟื้นตัวเริ่มกลับมาเดินทาง คาดว่าท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง จะมีผู้โดยสารเดินทาง 73 ล้านคน หรือประมาณ 50% ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และคาดว่าในปี 2566 ผู้โดยสารจะกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด -19 ซึ่งระหว่างนี้ ทอท.ยังคงเดินหน้าแผนลงทุน เพื่อรองรับการกลับมาฟื้นตัวจำนวนผู้โดยสาร โดยในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า ทอท.จะลงทุนประมาณ 3.87 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนที่สูง 2 เท่า เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ปัจจุบันที่มีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท