YLG ชี้ทองคำระยะสั้นผันผวนจากเฟด ลุ้นยืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์

YLG ชี้ทองคำระยะสั้นผันผวนจากเฟด ลุ้นยืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์

"วายแอลจี" มองทิศทางทองคำยังผันผวนระยะสั้น หลังปรับตัวลดลงแรงจากผลการประชุมเฟด มีลุ้นฟื้นตัวระยะสั้นหากยืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่กองทุน SPDR ยังเข้าเก็บทองคำ สะท้อนเม็ดเงินยังคงไหลเข้าใน ETF ด้านทองคำในประเทศราคายังดีได้อานิสงส์บาทอ่อน

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX เปิดเผยว่าราคาทองคำตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยหลักที่กดดันตลาดทองคำมาจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด แม้ว่าจะไม่ปรับขึ้นในเร็วๆนี้ โดยเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงเพราะความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวแต่จะพิจารณาความสมดุลจากหลายปัจจัย เพราะแม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแต่ตลาดแรงงานก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องให้น้ำหนักเพราะตลาดแรงงานยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ

ทั้งนี้ในระยะสั้น ราคาทองมีสัญญาณแกว่งตัวลดลง โดยที่ปัจจัยทางเทคนิค ราคายังมีโอกาสฟื้นได้หากสามารถกลับไปยืนเหนือแนวต้านแรก 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 27,150 บาทต่อบาททองคำ โดยมีแนวต้านต่อไปที่ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 27,800 บาทต่อบาททองคำ หากผ่านได้ก็จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถกลับไปยืนเหนือ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 28,250 บาทต่อบาททองคำ ก็จะเป็นสัญญาณขาขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดีหากทองคำไม่สามารถยืนได้ที่แนวต้านดังกล่าวจะเป็นสัญญาณเชิงลบทางเทคนิค ทำให้ยังมีโอกาสทดสอบแนวรับด้านล่างที่จุดต่ำสุดสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 26,550 บาทต่อบาททองคำ หรือ มีโอกาสทำจุดต่ำสุดใหม่

ขณะที่ในสัปดาห์ที่แล้ว ถึงแม้ราคาทองคำจะปรับลดลงแต่พบว่ากองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำขนาดใหญ่ ได้กลับเข้าซื้อทองคำถึง 11 ตันในวันศุกร์ โดยเป็นที่สังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ราคาทองปรับตัวลดลงแรง กองทุน SPDR จะทำการช้อนซื้อ นอกจากนี้ในตลาดทองคำประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ และยังมีทิศทางอ่อนค่าไปทดสอบที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทคือการประเมินเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่มองเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ