'สมาคมภัตตาคาร' ชงรัฐบาลขอ 3หมื่นล้าน ตั้งกองทุนปล่อยกู้อุ้มกิจการ

'สมาคมภัตตาคาร' ชงรัฐบาลขอ 3หมื่นล้าน  ตั้งกองทุนปล่อยกู้อุ้มกิจการ

สมาคมภัตตาคารไทย หารือ สศช.ขอกันวงเงินกู้ 3 หมื่นล้าน จาก พ.ร.ก.เงินกู้ ตั้งกองทุนปล่อยสินเชื่อประคองกิจการ เสนอตั้งคณะทำงานร่วมแก้ปัญหาร้านอาหาร “ดนุชา” รับเรื่องเสนอ ศบศ.ออกมาตรการ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากกไวรัสโควิด-19 ว่า สมาคมภัตตาคารไทยได้เสนอขอให้รัฐกันเงินจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 3 แสนล้านบาท จาก  พ.ร.ก.เงินกู้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท มาตั้งเป็นวงเงินพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกบการร้านอาหารเป็นการเฉพาะ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

 สำหรับการปล่อยสินเชื่อมีเงื่อนไขผ่อนปรนให้ผู้ประกบการร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาใช้ประคับประคองกิจการต่อไปได้ ซึ่งสศช. ได้รับข้อเสนอก่อนดำเนินการต่อไปโดยจะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด19 (ศบศ.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้สมาคมภัตตาคารไทยได้เสนอให้ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน100 %รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยพิจารณาจากรายได้ในปี2561-2562ซึ่งปัจจุบันมีนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)จํานวน 15,000 ราย (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์) และผู้ที่จ่าย ภ.ง.ด.90 ประเภทบุคคล จำนวน 100,000ราย

นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมแก้ปัญหาธุรกิจอาหาร โดยมี สศช. เป็นผู้ดำเนินการหลัก เชิญทุกภาคส่วนร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อเสนอแนวทางฟื้นฟูทั้งวงจรธุรกิจอาหาร เนื่องจากธุรกิจอาหารมีความแตกต่างที่หลากหลายรัฐบาลสามารถติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีคณะทำงานลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย สุดท้ายในระยะเวลาเร่งด่วนเสนอให้ใช้ศูนย์ บสย. เอฟ.เอ. เซ็นเตอร์ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ร้านอาหารทำบัญชีภาษีให้ถูกต้อง และมีโอกาสยกระดับจากบุคคลเป็นนิติบุคคลต่อไป

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจ สศช.ได้แจ้งว่า กำลังรวบรวมข้อเสนอของภาคเอกชนทุกกลุ่ม เพื่อนำมาจัดทำเป็นแนวทางการเยียวยาภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่า การช่วยเหลือจะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบก่อนแต่เบื้องต้นอาจไม่มีการเยียวยาผ่านการช่วยเหลือค่าจ้างคนละครึ่ง เพราะรัฐกำลังหาแนวทางอื่นที่เหมาะสมมาช่วยเหลือทั้งระบบ หรือการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเรื่องค่าบริการส่งอาหาร หรือค่าจีพี ส่วนจะออมาในรูปแบบใดนั้นคงต้องรอดูกันต่อไป

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า รัฐบาลกำลังหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หรือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเสนอแนวทางการดูแลในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นมากหลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด โดยเสนอให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลขึ้นซึ่งรัฐบาลได้รับที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้

ทั้งนี้ปัจจุบันจากวงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีทั้งสิ้น 3.5 ล้านล้านบาท มีจำนวนหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว 2.4 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ของผู้ประกอบการที่ใกล้จะเป็นระดับเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท รวมทั้ง 2 ส่วนเป็น 20% ของวงเงินที่รวมกันทั้ง 2 กลุ่มเท่ากับ 20% ซึ่งส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากช่วยที่จะเกิดโควิด-19 ที่อยู่ที่เพียง 1.7 แสนล้านบาทเป็นอย่างมากซึ่งหากไม่มีกลไกที่เข้ามาดูแลหนี้ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเอ็นพีแอลที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบกับสถาบันการเงินด้วยจึงเป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยและให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาไปด้วยกัน