'สนข.'ชงสร้างอุโมงค์ทางด่วนบางนา แก้ปัญหาจราจร ประเมินวงเงินก่อสร้างหมื่นล้าน

'สนข.'ชงสร้างอุโมงค์ทางด่วนบางนา แก้ปัญหาจราจร ประเมินวงเงินก่อสร้างหมื่นล้าน

สนข.จ่อเสนอโครงการอุโมงค์ทางด่วน แก้ปัญหาการจราจรติดขัดแยกบางนา หลังผลการศึกษาคาดแล้วเสร็จ มิ.ย.นี้ ประเมินวงเงินก่อสร้างหลักหมื่นล้านบาท ชงเปิดกว้างเอกชนร่วมพีพีพี ชี้ดันตามแผนเริ่มให้บริการภายในปี 2570

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณสี่แยกบางนาในระยะยาว ตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง(ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปแนวทางในการแก้ปัญหา 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดิน จากถนนนราธิวาส-สำโรง ระยะทางรวม 8.7 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งส่วนหนึ่งจะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ และขึ้นสู่ระดับพื้นที่ดินเขตสำโรง

อย่างไรก็ดี ภายในเดือน มิ.ย.นี้ กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น (MLIT) ซึ่งเป็นคณะทำงานวิชาการร่วมของ สนข.จะนำเสนอผลการศึกษารายละเอียดและรูปแบบโครงการฉบับสมบูรณ์ให้ สนข.พิจารณา หลังจากนั้น สนข.จะนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน มิ.ย. นี้ ก่อนจะมอบให้ กทพ.เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพราะเป็นระบบทางด่วนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง เชื่อมต่อกับทางด่วนสายปัจจุบัน

“อุโมงค์ทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยานี้ รูปแบบลงทุนจะเป็นพีพีพี เพราะโครงการต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งปัจจุบันทางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างปรับวงเงินลงทุนใหม่ คำนวณต้นทุนค่าก่อสร้าง และวัสดุในไทย ซึ่งจะถูกกว่าประมาณการลงทุนเดิมของญี่ปุ่นที่คิดจากต้นทุนของญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีมูลค่าลงทุนสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท และยังมีการปรับจุดปลายอุโมงค์ฝั่งสำโรง มาอยู่บริเวณแยกสรรพาวุธแทน บริเวณหน้าไบเทค บางนา เพื่อลดปัญหาการจราจร”

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้น หากมีการสร้างทางด่วนใต้ดินแล้วเสร็จ และดำเนินการเก็บค่าผ่านทางในปี 2570 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทาง ทำให้ความเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้นจาก 28.93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 31.62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นค่าความแตกต่างในทางที่ดีขึ้น 2.69 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 9.30% เนื่องจากอุโมงค์สามารถช่วยรองรับปริมาณการจราจรได้มากขึ้น

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า แนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดส่วนที่ 2. โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถคอนกรีตเกือกม้า, สร้างทางยกระดับบริเวณสี่แยกบางนา และการเชื่อมต่อถนนและทางเชื่อมทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดย ทล.จะเป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบและขออนุญาต

3.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อลดบริเวณรถยนต์บนถนน ในส่วนของรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และจัดทำผลกระทบส่งแวดล้อมคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี สามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2571

และ 4.โครงการก่อสร้างขยายขนาดความกว้างของช่องทางบนถนนสรรพวุธ เพื่อรองรับกับขนาดของรถยนต์ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันและอนาคตโดยมุ่งเน้นรถยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับรถบรรทุกที่เข้ามาใช้งานจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก โดยส่วนนี้เป็นข้อเสนอจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.)