วอชิงตันโพสต์แฉ 'ซิโนแวค' มีประวัติ 'ติดสินบน' เจ้าหน้าที่รัฐ

วอชิงตันโพสต์แฉ 'ซิโนแวค' มีประวัติ 'ติดสินบน' เจ้าหน้าที่รัฐ

วอชิงตันโพสต์รายงานมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ว่า บริษัทยา "ซิโนแวค ไบโอเทค" ของจีนมีปัญหา "ติดสินบน" เจ้าพนักงาน

ตามที่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย เรื่องประวัติการติดสินบนของ "ซิโนแวค" หรือ ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทยาจากจีนที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไทยใช้อยู่ด้วยนั้น กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบรายงานข่าวตามที่นักวิชาการรายนี้อ้าง พบว่า เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 ระบุ ซิโนแวค ไบโอเทค ขึ้นชื่อเรื่องการนำผลิตภัณฑ์ออกวางขายในตลาด เป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลองทางคลินิกวัคซีนโรคซาร์สในปี 2546 และเป็นบริษัทแรกที่นำวัคซีนป้องกันไข้หวัดหมูออกจำหน่ายในปี 2552 บันทึกศาลระบุว่า ซีอีโอซิโนแวคติดสินบนคณะกรรมการกำกับดูแลยา (อย.) ของจีน เพื่อให้วัคซีนผ่านการอนุมัติ 

ระหว่างที่รายงานข่าวนี้เป็นช่วงที่ซิโนแวคกำลังประสานจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดให้ประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่บราซิลไปจนถึงตุรกี และอินโดนีเซีย 

วอชิงตันโพสต์กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาจีนมีปัญหาเรื่องการทุจริตและไม่โปร่งใสมานานแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จึงไม่ค่อยเชื่อถือยาที่มาจากจีน 

ระหว่างนั้น ซิโนแวคยังไม่เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพ จึงไม่แน่ชัดว่า วัคซีนตัวนี้ปกป้องประชาชนได้เท่ากับวัคซีนของ "โมเดอร์นา" และ "ไฟเซอร์" ที่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นระบุว่าได้ผลกว่า 90% ได้หรือไม่

ซิโนแวคเองก็ยอมรับว่า ซีอีโอติดสินบน เอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลระบุว่า เขาให้ความร่วมมือกับอัยการและไม่ถูกดำเนินคดี โดยซีอีโอให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ อย.รายหนึ่งเรียกร้องเงินมาซึ่งเขาปฏิเสธไม่ได้

รายงานข่าวระบุว่า ซิโนแวคไม่เคยมีปัญหายาไม่ปลอดภัย และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนที่ติดสินบนนั้นมีข้อบกพร่อง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า การต้องจับตาซิโนแวคเป็นพิเศษนั้นชอบธรรมแล้ว เนื่องจากบริษัทมีประวัติจริยธรรมย่อหย่อน

“ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทมีประวัติการติดสินบนทำให้เกิดความสงสัยมาช้านานต่อข้อมูลวัคซีนที่บริษัทอ้างโดยที่ไม่มีการพิมพ์เผยแพร่และให้คนร่วมวงการตรวจสอบยิ่งเกิดโรคระบาด บริษัทที่มีประวัติจริยธรรมน่าสงสัยยิ่งต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ” อาเธอร์ แคพแลน ผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรมการแพทย์ ศูนย์การแพทย์แลงโกนี มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว