'ส.ว.' จี้ ถอน13ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ออกจากรัฐสภา ชี้ไม่พัฒนา-เอื้อประโยชน์ตัวเอง

'ส.ว.' จี้ ถอน13ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ออกจากรัฐสภา ชี้ไม่พัฒนา-เอื้อประโยชน์ตัวเอง

การอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมง ก่อนปิดท้ายที่ส.ว. ให้พรรคการเมืองถอนเนื้อหาออกไป หลังไม่มีประโยชน์-ไม่พัฒนา-เอื้อตัวเอง

       ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 ฉบับ ในวันแรก ว่า ได้ใช้เวลาอภิปรายกว่า 11 ชั่วโมง 30 นาที ก่อนจะพักการประชุม เพื่อไปพิจารณาต่อวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 09.30 น. 

         ทั้งนี้การอภิปรายส่วนใหญ่ ของส.ส. ต่างสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขระบบเลือกตั้งและ ตัดอำนาจ ส.ว. ที่ร่วมลงมติเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

          โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าโดยเสนอให้ใช้กระบวนการออกเสียงประชามติ ถามประชาชนก่อนว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ประเด็นใด ตามช่องทางที่ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติกำหนด

          ส่วน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับคสช.กลายพันธุ์ ที่บอกว่ารับไปก่อนเดียวก็ไปแก้ทีหลัง สังคมไทยเราช้ำกับคำนี้มากี่รอบแล้ว เราถูกหลอกมากี่รอบแล้ว ตนตั้งคำถามว่าเมื่อรับหลักการวาระหนึ่งจะแก้มาตรา 145 และมาตรา 185 แต่กรรมาธิการวาระสองจะให้แก้กลับไปโดยไม่แก้ได้อย่างไร และมีอะไรการันตีได้ว่ากรรมาธิการวาระสองจะแก้กลับไปเป็นแบบเดิม ประชาชนถูกหลอกซ้ำซ้อนมากี่ครั้งแล้ว

          ขณะที่ส.ว. นั้นอภิปรายไม่เห็นด้วย พร้อมแสดงเจตนาที่จะไม่รับบางญัตติและงดออกเสียง ทั้งนี้การอภิปรายของส.ว. ที่น่าสนใจ อาทิ ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับไม่มีความจำเป็น หรือมีวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ อีกทั้ง 13 ฉบับนั้น แก้ไขเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง   หากจะแก้ไขระบบเลือกตั้งต้องพัฒนามากขึ้น เช่น ให้ส.ส.เขต 500 เขต ไม่มีบัญชีรายชื่อ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และต้องพัฒนาด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว ต้องให้คนที่มามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่น บัญชีรายชื่อ จากเขตเลือกตั้ง ที่แพ้ในเขตเลือกตั้ง

          “ทั้ง13 ร่างไม่มีประโยชน์อะไร ให้มาถอนในวันพรุ่งนี้ ด้วยความปรองดอง หากไม่มีการถอนจะได้เห็นว่าวุฒิสภาลงมติอย่างไร” ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม อภิปราย

           จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุม ได้เลื่อนการประชุม ออกไป เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 09.30 น. ก่อนจะปิดประชุม เมื่อเวลา 22.32 น.