“หมอนิธิพัฒน์”ชี้การเรียกร้องรัฐให้เลิกซื้อ“วัคซีนซิโนแวค”ไม่ถูกต้อง

“หมอนิธิพัฒน์”ชี้การเรียกร้องรัฐให้เลิกซื้อ“วัคซีนซิโนแวค”ไม่ถูกต้อง

“หมอนิธิพัฒน์”ชี้จี้รัฐหยุดนำเข้า“วัคซีนซิโนแวค”เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ย้ำมีประโยชน์ช่วยลดอัตราการตาย จัดหาตัวไหนได้ต้องเอามา ทุกประเทศทำแบบเดียวกัน ลั่นกทม.ต้องพลิกกลับมาคุมเข้มส่วนที่ผ่อนคลายไปแล้ว เรียกร้อง “ล็อคดาวน์"

          เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี คนไทยจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐหยุดการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค เพราะประสิทธิภาพอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นว่า จะซื้ออะไรก็ซื้อได้หมด ซิโนแวคก็ยังดี อาจจะยังไม่ดีมาก เมื่อมีของใหม่ที่ดีกว่าถ้าหาได้ก็เอามา ยิ่งมีวัคซีนหลายชนิดในมือยิ่งเป็นต้นทุนที่ดี ซึ่งอนาคตมีโอกาสที่จะฉีดวัคซีนสลับชนิด ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ใครจะมาบอกว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประโยชน์ เพราะมีประโยชน์ ช่วยลดอัตราการตายของเราในช่วงระหว่างนี้ได้ระดับหนึ่ง และเป็นของที่หยิบฉวยได้ง่าย หากมีโอกาสซื้อมาให้หมด มียี่ห้ออะไรกวาดมาให้หมด

         “การเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการซื้อวัคซีนซิโนแวคเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มีอะไรต้องซื้อ ในประเทศต่างๆ ก็ทำแบบเดียวกัน ไม่มีใครคิดแบบคนที่เสนอว่าเอาแต่วัคซีน mRNA ถึงจะดีที่สุดเข้ามา ในโลกแห่งความเป็นจริงทำได้ยาก ไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ กว่าจะได้คือหลังเดือน ต.ค. ไปเลย ซึ่งระหว่างนี้ บางคนอาจจะไม่ได้อยู่รอให้ได้ฉีดด้วยซ้ำ อาจจะเสียชีวิตจากโควิด หรือเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นไปก่อน เพราะฉะนั้นหากมีอะไรให้ฉีดก็ฉีด อนาคตเมื่อมีวัคซีนมากขึ้นก็ค่อยมาฉีดเข็ม 3 ไม่เป็นปัญหา” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

162444287017

       รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดการติดเชื้อโควิด-19 ในกทม.มีอัตราการติดเชื้อจำนวนมาก เกินหลัก 1 พันราย อัตราการเสียชีวิตก็สูง ทั้งนี้สัดส่วนผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่ามีการติดเชื้อในชุมชนจำนวนมาก ทำให้การใช้เตียงในรพ.หลักติดขัด จำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ขยายศักยภาพมาหลายรอบเหลือไม่ถึง 5% ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต กลับมาเพิ่มขึ้นใหม่และอาจทำนิวไฮ

       “ยืนยันขอเรียกร้องให้มีการล็อคดาวน์ กทม. และปริมณฑล เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน เพราะมีพื้นที่ติดกัน และมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากเช่นเดียวกัน ในส่วนที่เพิ่งจะประกาศผ่อนคลายมาตรการลงแล้วนั้นต้องกลับมาคุมเข้ม หากทำอย่างน้อย 7 วันแล้วยังไม่ได้ผล หรือไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรอาจจะพิจารณาต่ออีก 7 วัน หากไม่เริ่มทำอะไรจะเห็นผู้ป่วยในกทม.พุ่งขึ้นเป็นหลักหลายพันรายต่อวัน ตัวเลขที่เห็นว่าระบบสาธารณสุขรับดูแลได้แบบสบายๆ ไม่หนักเกินไปคือ ทั่วประเทศประมาณ 1,500 รายต่อวัน แต่ตอนนี้เกินมามากแล้ว”รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว  

     รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การขยาย หรือเพิ่มมาตรการคุมเข้ม ถ้าไม่ทำวันนี้ก็จะช้าไปเรื่อย นอกจากจะทำให้เห็นอัตราการติดเชื้อมากขึ้น โคม่ามากขึ้น และเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีคนป่วยโรคอื่นๆ ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับผลกระทบมากขึ้น หลังจากที่ถูกแย่งทรัพยากรเตียง และบุคคลากรการแพทย์ เลื่อนการรักษาไปก่อนหน้านี้  ก็จะห็นคนไข้โรคอื่นๆแย่ลงไปด้วยไม่เฉพาะคนไข้โควิดเท่านั้น