‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่ 31.69 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่ 31.69 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่าลง จากบรรยากาศการลงทุนที่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นหลังคลายความกังวลเฟดไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น คาดวันนี้เงินบาทที่ระดับ 31.65-31.75บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.69 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.74 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.65-31.75 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่าปัจจัยกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง

ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงไทย

ขณะที่ ในฝั่งเงินดอลลาร์ก็เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดช่วยคลายความกังวลเฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของตลาด อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ และจะกลับมาอ่อนค่าลงได้ เมื่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหรือเอเชียจะกลับมาสดใสมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในยุโรปและเอเชียอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากหรืออ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะนี้ทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง

ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell และ เจ้าหน้าที่เฟดที่เป็น Voting member ของ FOMC อาทิ Williams, Mester และ Daly ต่างมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังห่างไกลจากปัจจุบันและเฟดจะยังไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าข้อมูลเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่ง ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวได้ช่วยให้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คลายความกังวลโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี ทั้งประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างมองสอดคล้องกันว่า การทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง QE Tapering ควรเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อม ซึ่งเฟดจะรอดูทิศทางข้อมูลเศรษฐกิจจนมั่นใจ อาทิการจ้างงาน ก่อนที่จะทยอยปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องลง

บรรยากาศการลงทุนที่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด ได้หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า+0.79% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นสไตลด์ Tech & Growth หลังนักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.51%

ทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้นราว+0.26% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในทุกตลาดประเทศ ยกเว้นในฝั่งตลาดหุ้นโปรตุเกส ที่ปรับตัวลดลงกว่า -0.52% จากความกังวลปัญหาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Tech & Growth เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ Adyen +1.70%, Infineon Tech. +1.23%, ASML +1.20%, Amadeus +0.98%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงราว 2bps สู่ระดับ 1.47% ตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดที่มองว่าเฟดยังไม่เร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะ การขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัวในกรอบต่อไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อ รวมถึงตลาดจะรอการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่อาจเกิดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดย้ำว่า เฟดยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาดได้ลดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ลง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ91.72 จุด หนุนให้สกุลเงินหลักล้วนปรับตัวแข็งค่าขึ้น อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.194 ดอลลาร์ต่อยูโรเงินปอนด์ (GBP) ก็กลับมาสู่ระดับ 1.394 ดอลลาร์ต่อปอนด์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะให้ความสำคัญกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในฝั่งสหรัฐฯและยุโรป ผ่านการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ โดย Markit โดยในฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเดินหน้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยการแจกจ่ายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรราว50% ทำให้ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนจากความต้องการบริโภคหลังมาตรการ Lockdown ผ่อนคลายลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการโดย Markit (Manufacturing & Services PMIs) ที่ระดับ 61.5จุด และ 70 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว)

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการที่ระดับ 62.1 จุด และ 57.9 จุด ตามลำดับ