'ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก'ท้าทายความเป็นกลางอาเซียน

'ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก'ท้าทายความเป็นกลางอาเซียน

'ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก'ท้าทายความเป็นกลางอาเซียน ขณะผู้เชี่ยวชาญมองว่าความเป็นกลางของอาเซียนกำลังลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 และเกิดวิกฤตการเมืองในเมียนมา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเห็นว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ดูเหมือนจะมีเป้าหมายให้เลือกข้างระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลปักกิ่งนั้น กำลังท้าทายจุดยืนด้าน“ความเป็นกลาง”ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)โดยตรง เนื่องจากการเผชิญหน้ากันของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ที่บ่อยครั้งขึ้นและไม่ใครยอมลงให้ใคร ทำให้เป็นเรื่องยากที่อาเซียนจะรักษาความเป็นกลางไว้ได้ตลอดในความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้น

ในการประชุมทางออนไลน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนพลัส หรือ ADMM-Plus เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐพยายามผลักดันวิสัยทัศน์ของรัฐบาลวอชิงตันในการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เป็นอิสระและเปิดกว้าง ขณะที่พลโทเว่ย เฟิงเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน ให้คำมั่นปกป้องผลประโยชน์หลักของรัฐบาลปักกิ่งจนถึงที่สุด

แต่สำหรับ“อึ้ง เอ็น เฮน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสิงคโปร์มองว่าการที่ ออสติน ที่ถือเป็นตัวแทนจากสหรัฐ เว่ย ตัวแทนจากจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากประเทศอื่นๆ 16 ประเทศมาประชุมร่วมกันเพื่อหารือในประเด็นต่างๆอาทิ ไต้หวัน ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เหตุการณ์นองเลือดในเมียนมาเป็นเรื่องสำคัญ

"เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การประชุมของ ADMM-Plus เป็นการประชุมที่สำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับทุกปัญหาที่เราจะหยิบยกขึ้นมาคุยกัน"รัฐมนตรีกลาโหมของสิงคโปร์ กล่าว

ด้านผู้เชี่ยวชาญการเมืองในภูมิภาค มีความเห็นว่า การประชุมนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบ่งชี้ว่าบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนสามารถวางตัวเป็นกลางได้ดีแค่ไหนอย่างไร และสามารถคงความเป็นกลาง ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นได้อย่างแท้จริงตามที่บรรดาผู้นำอาเซียนชอบพูดหรือไม่

ที่ผ่านมา อาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก 10 ประเทศมักทำหน้าที่เป็นผู้ประสานรอยร้าวเมื่อเกิดข้อขัดแย้งทางการทูตของประเทศต่างๆในภูมิภาคหรือเป็นผู้ประสานงานข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจ แต่ขณะที่มหาอำนาจเศรษฐกิจรายใหญ่สุดของโลกอย่างสหรัฐพยายามผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอย่างจริงจัง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้“ความเป็นกลาง”และ“ความสมานฉันท์”ของอาเซียนสั่นคลอน

162440480035

“การผงาดขึ้นมาของการเจรจาว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจทั้ง 4 ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย หรือควอด และการเคลื่อนไหวของอำนาจจากภายนอกต่อยุทศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะเป็นบททดสอบสำหรับอาเซียน ถ้าควอด และกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงพร้อมทั้งวางกรอบงานที่จะดำเนินการในอนาคต โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ และความตั้งใจของอาเซียน ก็จะสั่นคลอนความเป็นกลางของอาเซียน”โคอิชิ อิชิกาวา นักวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเชียของญี่ปุ่น ให้ความเห็น

รายงานวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย ชิ้นนี้ระบุว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่ครอบคลุมประเทศในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดความร่วมมือและการเผชิญหน้าระดับโลก

ที่ผ่านมา จีนขยายอิทธิพลผ่านข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (บีอาร์ไอ)ที่ทำให้เกิดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยสภาพเพื่อความสัมพันธ์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดในสหรัฐ ระบุว่า มี 139 ประเทศเข้าร่วมกับข้อริเริ่มนี้ของจีน รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สนับสนุนให้อาเซียนยึดมั่นใจหลักการ“ความเป็นกลาง”มีความวิตกกังวลอย่างมากว่าหลักการนี้กำลังลดลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 และเกิดวิกฤตการเมืองในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะการที่อาเซียนมีอิทธิพลน้อยลงอาจจะทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนในภูมิภาครุนแรงขึ้น

อีกทั้งภูมิภาคอาเซียนที่มีสันติภาพน้อยลงก็อาจจะไม่ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติอีกต่อไป นั่นเท่ากับทำให้ความพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจของชาติสมาชิกอาเซียนสูญเปล่า

162440483744

ความเป็นกลาง ซึ่งกลายเป็นวลีประจำของกลุ่มอาเซียนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถูกกำหนดไว้ในกฏบัตรอาเซียน ที่มีการลงนามรับรองเมื่อปี 2550 หลังจากก่อตั้งได้ 40 ปี

การประชุม ADMM-Plus ปีนี้ ที่หารือประเด็นความมั่นคงภายในกลุ่มอันได้แก่ สหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิว ซีแลนด์ ผู้เข้าร่วมประชุมยืนยันที่จะเคารพและยึดมั่นต่อกฏหมายระหว่างประเทศ

อึ้ง รัฐมนตรีกลาโหมของสิงคโปร์ มองว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์มากหากที่ประชุมมีฉันทามติในหลายๆเรื่อง พร้อมทั้งเรียกการประชุม ADMM-Plus ว่าเป็นการประชุมด้านความมั่นคงของภูมิภาคในทางพฤตินัย

ที่ผ่านมา อาซียนได้เชื้อเชิญ 8 ประเทศข้างต้นเข้าร่วมประชุมอีสต์ เอเชีย ซัมมิต เพื่อหารืออย่างกว้างๆในประเด็นปัญหาต่างๆ และการประชุมที่มีกรอบงานใหญ่ขึ้นอย่าง อาเซียน รีจินัล ฟอรัม ที่มีสมาชิก 27 ประเทศจะประชุมร่วมกันในต้นเดือนส.ค.นี้ ถือเป็นการประชุมระดับโลกที่มีเกาหลีเหนือเข้าร่วมที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ภายใต้การผลักดันของกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นความตกลงด้านการค้าใหญ่สุดของโลก ที่เมื่อปีที่แล้วรวมจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิว ซีแลนด์เข้าเป็นสมาชิก แต่มีบางประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ความตกลงนี้ครอบคลุม 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)และประชากรทั่วโลก