‘บลจ.วรรณ’ปั้นธุรกิจโบรกเกอร์ ลุยขายผลิตภัณฑ์การเงินครบวงจร คาดเริ่มก.ค.นี้

‘บลจ.วรรณ’ปั้นธุรกิจโบรกเกอร์ ลุยขายผลิตภัณฑ์การเงินครบวงจร คาดเริ่มก.ค.นี้

‘บลจ.วรรณ’ลุยธุรกิจโบรกเกอร์ คาด ก.ล.ต. อนุญาตเริ่มประกอบธุรกิจก.ค.นี้ มั่นใจ บล.ไพน์ ธุรกิจนายหน้าขายผลิตภัณฑ์การเงิน วางเป้า3-5 ปี รายได้และAUM โต“เท่าตัว”

จากสถานการณ์ “อุตสาหกรรมกองทุนรวม” มีการแข่งขันดุเดือดอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังมีคู่แข่งนอกตลาดไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน (แบงก์)บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)ธุรกิจประกัน หรือแม้แต่สินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถเข้ามาแย่งชิงเม็ดเงินมากขึ้นอีกทั้งยังเกิดการแย่งชิงบุคลากร (คน)ในอุตสาหกรรมที่ทุกวันนี้มีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมกองทุนรวมยังถูกควบคุมอย่างเข้มข้นมากกว่าธุรกิจอื่นๆที่มีกฎเกณฑ์ใหม่สนับสนุนให้ขยายตลาดได้ง่าย

นี่คือหนึ่งใน “ความท้าทาย” ของเล่นในอุตสาหกรรมกองทุนรวม ทำให้ “พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด ต้องปรับตัวโดยด่วน สะท้อนผ่านกลยุทธ์สร้างการเติบโตครั้งใหม่ ด้วยการปั้น “ธุรกิจใหม่” (New Business) ในธุรกิจหลักทรัพย์ภายใต้ “บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บลจ. วรรณ ถือหุ้น 99% ทุนจดทะเบียนธุรกิจ 25 ล้านบาท ซึ่งขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ (ใบอนุญาตแบบข)และใบอนุญาตประกอบธุรกิจธุรกิจหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน(ใบอนุญาตแบบ ง )

 โดยแต่งตั้ง“สุรศักดิ์ ธรรมโน” เป็นกรรมการผู้จัดการ  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตเริ่มประกอบธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะเริ่มประกอบธุรกิจได้ในเดือนก.ค. 2564

“พจน์” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการจัดตั้งธุรกิจใหม่ “บล. ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น”ในครั้งนี้ว่า บล.ไพน์ จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแนะนำการลงทุนให้กับผู้ลงทุนโดยเฉพาะ โดยไม่ได้มีเพียงกองทุนของ บลจ.วรรณ อีกต่อไป แต่จะให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนครบทุกผลิตภัณฑ์การลงทุนในรูปแบบ “Selective Open Architecture” 

อาทิ กองทุนรวม จาก บลจ.ชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ ตราสารหนี้ในตลาดแรก หุ้นกู้อนุพันธ์ (structured notes) ซึ่งในอนาคตอาจจะรวมถึง ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล 

ทั้งนี้ บล.ไพน์ จะประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับ ธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์ คือ การแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่างหรือ “Wealth Management”  แต่แตกต่าง

โดยการนำเอาทีมงานวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของ บลจ.วรรณ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนอยู่แล้ว มาเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ครบถ้วนมากขึ้น และโมเดลการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนประเภทต่างๆ ที่เป็น “Wealth Solution”มากขึ้น ทั้งนักลงทุนที่มีเงินลงทุนสูงหรือนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการจัดสรรเงินลงทุน และลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจจะเข้าถึงได้ยาก

    

162421408777 สำหรับในช่วงแรกของการดำเนินงานของบล.ไพน์ จะมีทีมวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ แนะนำการลงทุนที่ย้ายมาจากบลจ.วรรณเกือบทั้งหมดรวมถึงโยกกลุ่มลูกค้าบุคคล ของ บลจ.วรรณ ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เป็นหลักหมื่นล้านบาท มาบริหารจัดการต่อเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น

ขณะที่ในฝั่งของบลจ. วรรณ ยังมีหน้าที่มุ่งพัฒนากองทุนนวัตกรรมที่โดดเด่นและดูแลบริการลูกค้าสถาบันเป็นหลัก โดยมีบล.ไพน์นี้ เป็นช่องทางขาย      กองทุนให้บลจ.วรรณ ผ่านบริษัทในเครือ

โดยตั้งเป้าหมายบริษัทใหม่นี้จะเติบโต 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ทั้งรายได้ และ AUM เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” จากปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินธุรกิจในปีนี้มั่นใจว่าไม่ขาดทุนแน่นอน ขณะที่เงินลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ยังขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

“คาดหวังว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ บลจ.วรรณ เนื่องจากเราไม่ได้เป็น บลจ.ที่มีแม่เป็นธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น จึงจะเป็นต้องพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มช่องทางการขายของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งจะต้องมีการปรับตัวใหม่ๆอยู่เสมอ ให้คล่องตัวและครบวงจร โดยเราเชื่อมั่นว่าธุรกิจใหม่ของ บลจ.วรรณ จะมีกลยุทธ์และการบริการที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม”

 

“พจน์” กล่าวว่า เราไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้  เพราะยังมีแนวคิดพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนต่างประเทศ อย่างอาเซียน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนของไทยไปแข่งขันในต่างประเทศมากขึ้นตามนโยบายของ ก.ล.ต. และธุรกิจเกี่ยวกับฟินเทค พัฒนาระบบเทคโนโลยีมาช่วยให้บริษัทในเครือทั้งหมดให้มีความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพทั้งสร้างรายได้และลดต้นทุน

ด้วยความแข็งแกร่งของบริษัทแม่อย่าง บลจ.วรรณ ที่เป็นผู้นำการพัฒนากองทุนนวัตกรรมรายแรกๆ และมีผู้จัดการกองทุนเชิงรุก สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดและลูกค้าให้การตอบรับดี 

ขณะเดียวกันยังมีบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (KGI) ที่ถือหุ้นใหญ่ในบลจ.วรรณ 99% ซึ่งเป็น บล. อันดับหนึ่งของไทยในแง่ผลประกอบการ ทั้งนี้หากมีแนวคิดพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ดี และคุ้มค่าการลงทุน แม้ไม่ทำกำไรมากแต่สนับสนุนบริษัทในเครือทั้งหมดมีประสิทธิภาพดีขึ้น  ทางเคจีไอพร้อมสนับสนุน

ประกอบกับมองว่าตลาดการลงทุนในไทยยังมีโอกาสอีกมาก อย่างตลาดกองทุนรวมไทย ปัจจุบันมีบัญชีกองทุนเพียง 5 ล้านบัญชีหรือสัดส่วนไม่เกิน 5% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้บางคนยังมีบัญชีกองทุนหลายบัญชีอีกด้วย

นอกจากนี้แนวคิดในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด -19 เช่นนี้ “พจน์” มองว่า การขยายธุรกิจใหม่ของเราครั้งนี้ ใช้เงินลงทุนไม่มากและประหยัด จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด

และยังถือเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุนในช่วงวิกฤติ เช่นเดียวกับ หลักคิดการลงทุนของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่มองว่า เวลาที่ทุกอย่างปรับตัวลงคือเวลาที่จะเข้าลงทุน และยึดตามสโลแกนของ บลจ.วรรณ “ACTIVATE OPPORTUNITIES” ทุกครั้งที่เห็นโอกาสจะเข้าลงทุนทันที “เมื่อโลกนิ่งมาระยะหนึ่งแล้วมีน้ำหยดหนึ่งมาจากฟ้า เราต้องรีบเข้าไปดูว่ามาจากไหนและใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง” คล้ายกับที่ธุรกิจใหม่ที่เรากำลังจะเริ่มต้นนั่นเอง