รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง หน่วยงานเดียวกัน แต่ทำไมประมูลต่างกัน?

รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง หน่วยงานเดียวกัน แต่ทำไมประมูลต่างกัน?

"ดร.สามารถ" โพสต์ถาม รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง หน่วยงานเดียวกัน แต่ทำไมประมูลต่างกัน?

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์บนเฟซบุ๊คเช้านี้ ระบุว่า  รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง หน่วยงานเดียวกัน แต่ทำไมประมูลต่างกัน?
รถไฟทางคู่เหนือ-อีสานประมูลเฉียดราคากลางเพียง 0.08% แต่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ประมูลได้ต่ำกว่าราคากลางถึง 14.65% ตัวอย่างที่ดีมีอยู่แล้ว แต่ทำไมการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงไม่นำมาใช้ในการประมูลทางคู่?

ร.ฟ.ท. แบ่งการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ออกเป็นแค่ 5 สัญญา ประหยัดค่าก่อสร้างได้เพียง 0.08% ของราคากลาง ในขณะที่แบ่งการประมูลงานโยธาของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินงานโยธาประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ออกเป็นถึง 14 สัญญา (ไม่รวมงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ) ทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างได้มากถึง 14.65% ของราคากลาง

ทำไม ร.ฟ.ท. จึงไม่นำแนวทางการประมูลรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในการประมูลทางคู่เหนือ-อีสาน?
ร.ฟ.ท. อ้างว่าเหตุที่ไม่แบ่งการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา และไม่แยกการประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา เนื่องจากสามารถบริหารงานก่อสร้างได้ง่ายกว่า ข้ออ้างนี้ขัดแย้งกับการประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ ร.ฟ.ท. แบ่งการประมูลออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา อีกทั้ง ได้แยกงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณตลอดเส้นทางให้ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่รวมอยู่กับการประมูลงานโยธา
งานโยธาของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ราคากลางประมาณ 136,000 ล้านบาท ร.ฟ.ท. แบ่งการประมูลออกเป็น 14 สัญญา ร.ฟ.ท. ดำเนินการประมูลเสร็จแล้ว 13 สัญญา ราคากลาง 118,465 ล้านบาทปรากฏว่าได้ราคาประมูล 101,112 ล้านบาท ประหยัดค่าก่อสร้างได้มากถึง 17,353 ล้านบาท คิดเป็น 14.65%

เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ราคากลาง 128,374 ล้านบาทซึ่ง ร.ฟ.ท. แบ่งการประมูลออกเป็นแค่ 5 สัญญา ปรากฏว่าได้ราคาประมูล 128,268 ล้านบาท ประหยัดค่าก่อสร้างได้น้อยมากแค่ 106 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% เท่านั้น

การแบ่งการประมูลออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญาสำคัญอย่างไร?
การแบ่งการประมูลออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญาทำให้ค่าก่อสร้างต่อสัญญาต่ำลง ส่งผลให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่เท่านั้น เมื่อมีผู้รับเหมาหลายรายเข้าร่วมประมูล การแข่งขันย่อมมีมากกว่า ราคาที่ได้จากการประมูลจึงต่ำกว่าราคากลางมากกว่า ดังที่ได้พิสูจน์แล้วจากการประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

การรวมประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณกับงานโยธา มีข้อเสียอย่างไร?
การรวมงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณกับงานโยธา โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณว่ายินดีจะขายและติตตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเลือกออกหนังสือรับรองให้ผู้รับเหมารายใดก็ได้ เช่น อาจจะออกหนังสือรับรองให้เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่เท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ถือเป็นการล็อกสเปกผู้รับเหมาอย่างแยบยล ด้วยเหตุนี้ จึงควรแยกการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธาเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว

มีการคัดค้านไม่ให้รวมประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเข้ากับงานโยธาหรือไม่?
ก่อนการประมูล ร.ฟ.ท. ได้สอบถามความเห็นจากผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ปรากฏว่ามีผู้รับเหมาคัดค้านการรวมประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเข้ากับงานโยธา และได้เสนอให้แยกประมูล โดยได้แสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น
“เพื่อประสิทธิภาพของการดำเนินงานอาณัติสัญญาณและสื่อสาร ลดความยุ่งยากในการเชื่อมต่อระหว่างสัญญา (ยิ่งถ้าแต่ละสัญญาเป็นผู้รับเหมางานอาณัติสัญญาณและสื่อสารแตกต่างกัน) และลดเวลาในการดำเนินการ และสะดวกสำหรับการบำรุงรักษา หรือปฏิบัติงานหรือจัดการของ ร.ฟ.ท. เป็นอย่างยิ่ง”
หรือความเห็นในกรณีกำหนดให้ผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณออกหนังสือรับรองให้ผู้รับเหมา
“อาจก่อให้เกิดการสมยอมกันระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอบางรายกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ในการไม่ออกเอกสารหนังสือดังกล่าวให้ผู้เสนอราคารายอื่น”
แต่ ร.ฟ.ท. ก็ไม่ยอมทำตามเสียงคัดค้านเหล่านั้น!

รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแยกหรือรวมกับงานโยธา?
การประมูลรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แยกงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยาย สายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง รวมทั้งสายสีส้มที่มีปัญหาการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลงานโยธากลางอากาศอยู่ในขณะนี้ มียกเว้นเฉพาะสายสีเขียวส่วนหลัก และแอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้นที่ประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณรวมกับงานโยธา

สรุป
ข้ออ้างของ ร.ฟ.ท. ที่ไม่แบ่งการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา และไม่แยกการประมูลงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา โดยอ้างว่าสามารถบริหารงานก่อสร้างได้ง่ายกว่านั้นไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากการบริหารงานง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับศักยภาพของ ร.ฟ.ท. ซึ่งผมมั่นใจว่า ร.ฟ.ท. มีศักยภาพมากพอที่จะบริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น
แล้วทำไม ร.ฟ.ท. จึงไม่นำศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ให้หมดอย่างเต็มที่? ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศชาติได้อย่างมาก