BBL ชี้ 3โจทย์ ฉุดศก.ไทย หลัง ‘โควิด-19’

BBL ชี้  3โจทย์ ฉุดศก.ไทย หลัง ‘โควิด-19’

ธนาคารกรุงเทพ มองเศรษฐกิจไทย หลังพ้นโควิด-19 ยังไม่สดใส ชี้อาจเผชิญผลกระทบรุนแรงกว่าโควิด-19 จาก 3โจทย์หลัก ทั้งจากดีสรับชั่น เทรดวอล ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

       นักวิชาการหลายสำนัก หลายองค์กร ออกมาทำนาย “เศรษฐกิจไทย”หลังจากผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 และรอให้โควิด-19 ผ่านพ้นไปเร็วๆ เผื่อฟ้าฝน เศรษฐกิจไทยจะกลับมาสดใสมากขึ้น หลังจากประชาชน เศรษฐกิจไทยต้องจมอยู่กับโควิด มานานกว่า 1ปี
        แต่การที่จะทำให้ “เศรษฐกิจ”กลับมาฟื้นตัว และเติบโตได้ นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความผันผวน และโจทย์มากมาย ที่ “เศรษฐกิจไทย”ต้องเจอในระยะข้างหน้า ที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
      “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวถึง “มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ หลังโควิด-19 หรือ Post Covid Era ว่า เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ยังต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยง และความท้าทาย และโจทย์ใหญ่อีกมาก ที่จะเกิดขึ้นกับ เศรษฐกิจไทยในช่วง 1ปีหลังจากนี้ ทั้งประเด็นระยะสั้น และระยะยาว
     โจทย์หลักๆที่เป็นความเสี่ยง และเป็นโจทย์ใหญ่ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญมี 3 ด้านด้วยกัน ด้านแรก คือ ปัญหาที่มาจาก การถูก“ดีสรับชั่น”ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่มาจากโควิด-19 ที่เป็นตัว “เร่ง”ให้การดีสรับอุตสาหกรรม นวัตกรรม วงการอุตสาหกรรมยานต์ ดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น งานวิจัย ดีสรับการใช้ชีวิต ที่รวดเร็วกว่าเดิมมาก

      แม้ปัญหา จากการถูก “ดีสรับชั่น” จะเป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญอยู่แล้วก่อนโควิด-19 แต่ปัญหาเหล่านี้จะกลับมา “รุนแรง” กว่าเดิมมาก เพราะหลังจากนี้ จะเกิดการพลิกโฉมในทุกอุตสาหกรรม ทุกวงการ ที่ โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ทุกอย่างเกิดการเฟืองฟู พัฒนา และเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น
     โดยใช้ระยะเวลาสั้นๆเพียง 1ปีหลังจากนี้ จากเดิมที่มองว่า การที่จะถูกดีสรับชั่นในด้านต่างๆได้อาจเห็นการเกิดขึ้นได้ภายใน 10ปีข้างหน้า ซึ่งเหล่านี้จะกลับมาเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก กระทบต่อการทำธุรกิจ กระทบต่อคนไทยในระยะข้างหน้า หากเราไม่ปรับตัว!

    โจทย์ที่สองที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ คือ ปัญหาเทรดวอลล์ หรือสงครามทางการค้า ที่จะกลับมารุนแรงมากขึ้น เดิม หลายคนอาจดีใจว่า การที่อดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์”พ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้ง ถือเป็นมิติที่ดี ที่จะทำให้สงครามการค้า ทุเลา หรือสงบลง การค้าขายจะกลับคืนมาสู่ปกติ
     แต่จริงๆแล้ว ปัญหา “เทรดวอลล์”ยังไม่จบ เทรดวอลล์ยังเดินหน้าความรุนแรงต่อเนื่อง หลัง “โจ ไบเดน” ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ออกมาเดินหน้าแบนจีนต่อเนื่อง โดยการสั่งแบน 59 บริษัทในจีนที่เข้ามาทำธุรกิจ ในสหรัฐ และรวมพลังประเทศต่างๆ จัดการกับประเทศจีน และพยายามหาต้นต่อ การติดเชื่อจาก “โควิด-19”ว่ามาจากไหน?
      เหล่านี้ กำลังจะเกิดขึ้น และนำมาสู่ การกลับมาของเทรดวอลล์ หรือสงครามการค้าที่จะกลับมารุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้เกิด การโยกย้าย ธุรกิจออกจากจีน มาสู่ภูมิภาค ไปสู่แหล่งการผลิตใหม่ๆ

     ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันครั้งใหญ่อีกรอบในอนาคต เหล่านี้ เป็นทั้งความ “ท้าทาย” และปัญหาสำหรับเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน ที่อาจได้ทั้งประโยชน์ และผลกระทบจากเทรดวอลล์ครั้งนี้

      โจทย์สุดท้าย ที่ต้องเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ คือ ปัญหาจาก ภูมิรัฐศาสตร์ หรือ geopolitics ที่เกี่ยวโยงกันหลายประเด็น ทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาจากภูมิอากาศ จากสิ่งแวดล้อม ความตรึงเครียดต่างๆ

     โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ ที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เหล่านี้ จะก้าวเข้ามากระทบต่ออาเซียน กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จากการที่ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
     ดังนั้น “เรา” ต้องเตรียมพร้อม ตั้งรับ เพื่อเตรียมรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายเหล่านี้ เพื่อก้าวสู่ยุคนิวนอลมอลหลังจากนี้ให้ได้ เศรษฐกิจไทยถึงจะกลับมาฟื้นตัว และกลับมาเติบโตได้ในระยะข้างหน้า
     “หลายบริษัทรอคอยให้โควิด-19 ผ่านพ้นไป เพราะคิดว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่ามีสิ่งที่เซอร์ไพรส์รอเราอยู่หลังโควิดอีกมาก ดังนั้นหากเราไม่มีการเตรียมการที่ดี เราอาจตายตอนจบก็ได้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมรองรับสิ่งต่างๆ ให้ได้ ให้เพียงพอ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพประเทศ การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ การผลิตต่างๆ รวมถึง ความสามารถในการกล้าตัดสินใจที่มากขึ้น”

     อีกทั้ง ประเทศไทยหลังโควิด-19 ยังต้องเจอโจทย์และความเสี่ยงและการปรับเปลี่ยนอีกมาก เพราะขณะนี้ ประเทศคู่แข่งของไทย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

     เช่น อินโด ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกฎหมายที่ล่าหลัง ให้สอดรับกับการทำธุรกิจ การใช้ชีวิตบนบริบทใหม่
รวมไปถึง เวียดนาม ที่กำลังเพิ่ม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI ) เพิ่มเป็น 3 เท่าของไทย
       ดังนั้นหากเราไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ปรับตัว “ประเทศไทย” เศรษฐกิจไทย อาจต้องสูญเสีย ความสามารถการแข่งขันในไม่เกิน 10ปีข้างหน้านี้ สูญเสียที่ว่าจะมีผลกระทบมหาศาล ทั้งการสูญเสียอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร สูญเสียอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับการลงทุนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehical :EV )รวมถึงการท่องเที่ยว
       และที่สำคัญสุด คือสูญเสีย การเป็น “ศูนย์กลาง”หรือฮับของภูมิภาคไปในที่สุด ดังนั้น เหล่านี้ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ไทยต้องปรับตัว เพื่อต่อสู้หลังโควิด-19 เพราะจะเป็นจุดชี้วัด ว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่ทางไหน ที่เต็มไปด้วย ทั้งโอกาส ความท้ายทาย ที่รอทุกคนอยู่
     
แต่หากดูระยะสั้นในปี 2564 มองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ และถ้าหากเรายังยืนระยะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในระดับวันละ 500,000 โดสได้

      แต่ก็จะเห็นจีดีพีหรือการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงระดับ 1-2% เท่านั้น เพราะความสูญเสียจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้กัดกร่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยไปมากในช่วงที่ผ่านมา