ฉีด 'วัคซีนโควิด 19'ต้องตรวจ'ภูมิต้านทาน' หรือไม่? ทำไม 'ภูมิคุ้มกัน' ไม่ขึ้น?

 ฉีด 'วัคซีนโควิด 19'ต้องตรวจ'ภูมิต้านทาน' หรือไม่? ทำไม 'ภูมิคุ้มกัน' ไม่ขึ้น?

ตอนนี้มีหลากหลายคำถามเกี่ยวกับ 'วัคซีนโควิด 19' ไม่ว่าจะการเตรียมตัวก่อนฉีด หรือหลังฉีดวัคซีนแล้ว จำเป็นต้องตรวจ 'ภูมิต้านทาน' หรือไม่? และทำไมหลายคนฉีดแล้ว 'ภูมิคุ้มกัน' ไม่ขึ้น?

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระจาย วัคซีนโควิด 19’ ทั้งวัคซีน AstraZeneca’ และ ‘Sinovac’ ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนจอง‘วัคซีนโควิด 19’  และกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา กรมการขนส่งสาธารณะ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในเดือนมิ.ย.นี้ จำนวน 6 ล้านโดส

โดยขณะนี้แม้จะมีการหยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวในหลายพื้นที่  เช่น กทม.เนื่องจากมีการเหตุขัดข้องทางบริษัทวัคซีน  แต่สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ 28 ก.พ. - 12 มิ.ย. 2564 รวม 6,188,124 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 4,531,914 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด) จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 1,656,210 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์) และตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 รวม 2,087,603 โดส จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 1,761,667 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 325,936 ราย

ทว่าหลังจาก‘วัคซีนโควิด 19’ หลายคนมีความข้องใจเเรื่องของ ภูมิต้านทาน เนื่องจากเมื่อไปตรวจแล้ว หลายคนพบว่า ‘ภูมิต้านทาน’’ ขี้นน้อยถึงน้อยมากมาก

  • ย้ำหลังฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ไม่จำเป็นต้องตรวจ 'ภูมิต้านทาน'

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊ค Yong Poovorawan ว่า หลังจากมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตรวจหา ‘ภูมิต้านทาน หลังฉีดวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่วัคซีนโควิด 19’ แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหา ‘ภูมิต้านทาน’ เนื่องจากแต่ละห้องปฏิบัติการ น้ำยาที่ใช้ตรวจ หลากหลายชนิดกันมาก ยังไม่มีมาตรฐานกลาง เปรียบเทียบกันไม่ได้

ขณะที่หน่วยที่ใช้วัดก็แตกต่างกัน เช่นเป็น AU (Arbitrary Unit) ตามพจนานุกรม Arbitrary แปลว่า โดยพลการ หรือตามอำเภอใจ หน่วยเป็นยูนิตก็มี ยังไม่มีมาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลกที่เข้ามาปรับ หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ก็มี เป็นตัวเลขการทำให้เจือจางก็มี เช่น 1:20, 1:40, 1:80….  และยังมีการใช้วิธีการตรวจแบบรวดเร็วอีก โดยการหยดเลือดแล้วดูแถบสี ซึ่งความถูกต้องต่ำมาก

การแปรผลจะมีการสับสนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าถือแค่ว่าตรวจพบหรือไม่พบ จะพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตรวจพบ ถ้าทำวิธีที่ไว แล้วเมื่อพบก็บอกไม่ได้ว่าระดับเท่าไหร่ที่จะป้องกันโรคได้ และยิ่งเปรียบเทียบต่างห้องปฏิบัติการ ต่างวิธีจะเห็นว่าตัวเลขแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการสับสนมากในขณะนี้ จึงเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียเงินทอง ออกต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก

“เมื่อตรวจแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่ได้ใช้ตัวเลขดังกล่าวมาตัดสินใจ ในการป้องกันหรือการให้วัคซีนเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่สร้างความสบายใจหรือไม่สบายใจเกิดขึ้น และเสียเงินทองโดยใช่เหตุ ยิ่งในยามขณะนี้ เราจะต้องประหยัดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย การตรวจดังกล่าวขอให้อยู่ในงานวิจัยเท่านั้น เพราะผู้ที่ทำวิจัยจะมีความรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และมีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจวัดเพื่ออะไร ให้ได้ภาพรวมออกมา สู่สังคมจะดีกว่า ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจหาภูมิต้านทานแต่อย่างใด”ศ.นพ.ยง ระบุ

  • เตรียมตัวฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ใช้ชีวิตปกติ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนโควิด 19’ นั้น ศ.นพ.ยง กล่าวว่าไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ  ทุกอย่างอยู่อย่างไร ให้ปฏิบัติตนเช่นนั้น

การออกกำลังกาย ถ้าทุกวันออกกำลังกาย ก็ออกกำลังกายทุกวันไป ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ วันก่อนจะไปฉีดวัคซีนก็ไม่ต้องไปหักโหมให้ร่างกายอ่อนเพลีย

การกินน้ำเยอะๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าร่างกายไม่ขาดน้ำ ดูอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ เช่น เสียเหงื่อมาก อากาศร้อน ก็กินน้ำให้เต็มที่ รับประทานอาหารให้ปกติ อย่าปล่อยให้หิว หรือท้องว่าง เดี๋ยวจะเป็นลมง่าย

กาแฟเคยทานทุกวัน ก็ทานเป็นปกติ แต่ถ้าไม่ได้ทาน ก็อย่าไปทานในวันฉีดวัคซีน

ส่วนยาทุกชนิดที่ทานอยู่ก็ให้ทานปกติ ไม่ว่าจะเป็นยาความดัน เบาหวาน ยาละลายลิ่มเลือด ลดไขมัน สารพัดยาที่กินอยู่ ก็ให้กินต่อไป ถ้าทานยาละลายลิ่มเลือด เวลาฉีดยา กดรอยฉีดให้นานหน่อย อย่าไปขยี้เดี๋ยวเลือดออกง่าย

ยากดภูมิต้านทาน ที่กินอยู่ ไม่ควรหยุดเอง ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าหยุดแล้วโรคกำเริบ ก็ไม่ควรหยุด แต่ต้องยอมรับว่าฉีดแล้วภูมิต้านทานจะขึ้นไม่ดี แล้วค่อยไปเพิ่มจำนวนฉีดทีหลัง

ยาคุมกำเนิด ยาปวดศีรษะไมเกรน ไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด

“การไปฉีดวัคซีนนี้ ทำใจให้สบาย ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าการฉีดวัคซีนในภาวะปกติ เช่นไข้หวัดใหญ่ การฟังข่าวที่ทำให้เครียด เวลาไปฉีดยา บางคนยังไม่ทันไร ความดันขึ้นสูงมาก ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติความดันมาก่อน ขอให้ปฏิบัติตนแบบปกติ ในกิจวัตรประจำวัน เมื่อฉีดยากลับมาแล้ว ถ้ารู้สึกมีไข้ ไม่สบายเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ทานยาพาราเซตามอลได้เลย ถ้ามีอาการผิดปกติมากเช่น ไข้สูงมาก หลายวัน ปวดศีรษะมาก เจ็บหน้าอก จุกแน่น หายใจลำบาก หรือรู้สึกไม่สบายมากก็ขอให้พบแพทย์” ศ.นพ. ยงกล่าว

  •  3 ลักษณะ'ภูมิคุ้มกัน'ขึ้นน้อยหลังฉีด 'วัคซีนโควิด 19'

ด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะ​แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสข้อความผ่าน เฟสบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงปัญหาภูมิคุ้มกันขี้นน้อยถึงน้อยมากมาก…ต้องเริ่มระมัดระวัง (นพ เขตต์ ศรีประทักษ์ คุณชนิดา รุจิศรีสาโรช นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา) ว่า

ผู้ที่ได้รับวัคซีน‘Sinovac’ ครบ 2 เข็มไปแล้ว  3-4 สัปดาห์ พบว่ามีหลายรายที่ neutralizing antibody ไม่มี หรือที่สูงเพียง 20-30% การวัดตัดที่ 20% inhibition คือความสามารถในการยับยั้งไวรัสได้ต้องมากกว่า 20% จึงจะถือว่ามี ‘ภูมิคุ้มกัน’ (ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ จุฬา)

ทั้งนี้ อาจจัดแบ่งออกได้ เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  1. คนที่ได้รับวัคซีนตามปกติจะมี การตอบสนองที่สูง กลางและต่ำเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ต้องขึ้นวัคซีนเทคนิคเชื้อตายเช่นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดสามเข็มในวันที่ศูนย์ 3-7 ถึงจะเริ่มเห็นภูมิคุ้มกันในเลือดประมาณวันที่ 10 และขึ้นในทุกคนในวันที่ 14 ดังนั้นวัคซีน ‘Sinovac’ ฉีดสองเข็มห่างกัน 1 เดือนจึงทำการประเมินที่ 3 หรือ4 สัปดาห์หลังจากเข็มที่2 แต่ทั้งนี้ควรจะต้องมีภูมิขึ้นในระดับน่าพอใจในทุกคน
  2. ในบางกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในวันเดียวกัน รับการฉีดที่เดียวกัน ปรากฏว่าไม่มีภูมิขึ้นเลย (น้อยกว่า 20%) อาจเป็นไปได้ว่าวัคซีนในชุดเดียวกันนั้นอาจจะมีปัญหา
  3. มีภาวะประจำตัวที่สำคัญเช่น สูงอายุและมีเบาหวาน ที่ภูมิคุ้มกัน ไม่ขึ้น ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของสถาบันแห่งหนี่ง
  4. เริ่มมีการรายงายผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งๆที่ฉีด ‘Sinovac’ ครบ 2 เข็ม และ AstraZeneca’ 1 เข็มแล้วบางรายที่ติดมีการตรวจวัด ภูมิคุ้มกันหลังฉีดแล้วว่าขึ้น แต่ไม่สูงมาก

ดังนั้นในกรณีที่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อยกว่า 68% ซึ่งเป็นตัวเลขในทางทฤษฎีที่มีความสัมพันธ์กับการป้องกันการติดอาจจะต้องพิจารณาถึงการได้รับวัคซีนเข็มที่สามไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อเก่าหรือยี่ห้อใหม่ก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตรวจสอบ!! 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ในคนไทย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ระดับไหน?

                      เปิดภูมิคุ้มกันคนไทยหลังฉีดวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค'

                      พรึ่บ! หลาย รพ. เลื่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' โยนถาม สธ. ทำไม วัคซีนไม่พอ!?

  • สงคราม 'โควิด 19' :ทำไมต้องบุกเร็ว-แรง

นอกจากนั้น ในกรณีของการเกิดอาการแพ้หรือมีผลข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้ภูมิคุ้มกันยิ่งสูงขึ้น เพราะเป็นการอักเสบผ่านทางคนละระบบ

ทางการสิงคโปร์ยินยอมให้ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหารอย่างรุนแรงฉีดmRNA ได้ แต่ปรากฏว่าด้วยสาเหตุอะไรอธิบายไม่ได้ คนสิงคโปร์มีปฏิกิริยาแพ้ค่อนข้างรุนแรงต่อวัคซีน ดังนั้นให้เป็นข้อปฏิบัติว่าถ้ามีอาการแพ้ดังกล่าวให้ไปฉีดวัคซีนอื่นเช่น‘Sinovac’

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสอีกว่า สำหรับสงครามโควิด:ทำไมต้องบุกเร็ว-แรง นั้นจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสายเดลต้า หรือเบต้า เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยโดยที่สายพันธุ์ปกติยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ

  • ทำไมเราต้องบุกเร็ว-แรง?

ความสามารถในการแพร่กระจายของโควิดเก่งขึ้นเรื่อยๆ ตามการผันตัวของรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการติดเชื้อเก่งขึ้น สร้างไวรัสปริมาณมากขึ้น และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น ประกอบกับความเบื่อบ้าง ความไม่ใส่ใจวินัย รวมทั้งจากความจน ความท้อแท้ ของคน ความหดหู่สิ้นหวัง

  • ทำไมว่ามีสายที่เก่งขึ้นในไทยแล้ว?

สาย เดลต้า (อินเดีย) ที่พบที่หลักสี่ 21 พฤษภาคม และเป็นในชุมชนแล้ว (แม้จะเป็นในแคมป์คนงาน) ต้องถือว่าเป็นการแพร่ทั่วไปแล้ว เพราะไม่สามารถสืบทั้งต้นตอ และทิศทางการแพร่กระจายได้ชัดเจน และทางการประกาศยืนยันในเวลาต่อมาว่ากระจายทั่วไปจริง

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมสายเบต้าหรือแอฟริกาที่พบในลักษณะเดียวกันในภาคใต้ในชุมชนเช่นกันที่ควรจะรุนแรงมากกว่าและจากที่ห้องปฏิบัติการของเราพบสายเดลต้าเนิ่นนานจากตัวอย่าง 13 พฤษภาคม แล้ว

  • ทำไมวัคซีน ต้อง2 เข็ม ในเวลาสั้นที่สุด?

การดึง'วัคซีนโควิด 19'เข็มที่สองให้ห่างออกไป เป็นจากเหตุผลของการไม่มีวัคซีนเป็นประการสำคัญแต่ด้วยสถานการณ์ที่มีสายของไวรัสที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้เก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปฎิเสธไม่ได้ว่าเข็มที่สอง เช่นจากแอสตร้า ต้องติดกับเข็มที่หนึ่ง ในเวลาสองเดือนด้วยซ้ำ

วัคซีนเชื้อตายไม่ว่า‘Sinovac’ และ 'Sinopharm' ควรต้องเป็นในเวลาสามถึงสี่สัปดาห์ เพื่อพยุงให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ (neutralizing antibody) อยู่สูงในระดับ 68% ทั้งนี้โดยหวังว่าจะสามารถจับไวรัสที่ผันแปรไปเหล่านี้ได้บ้าง และทำให้มีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบสองเข็มไม่มากจนเกินไปและไม่มีอาการหนักมากจนเกินไป

  • หลักฐานความสามารถของไวรัสเดลต้า แม้ในคนที่ได้วัคซีนแล้ว!!!

(ข้อมูลและความเห็นจาก ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา Anan Jongkaewwattana) แม้ว่าพบคนติดเชื้อได้หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มประมาณ 6% แต่ในจำนวนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลคือ 11%

ผู้ป่วยที่เสียชีวิต จากการติดไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทั้งหมด 42 ราย ในอังกฤษที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้า มีถึง 12 ราย หรือ 28.5% เป็นผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ถ้ารวมอีก 7 ราย ที่ได้วัคซีน 1 เข็ม ตัวเลขของผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบ 1 เข็ม สูงถึง 45.2%

  • ทำไมยังคงต้องรีบฉีดทั้งทางที่สายเดลต้าเริ่มเล็ดรอดไปแล้ว?

ต้องไม่ลืมว่าไวรัสสายปกติพี่วัคซีนยังสามารถป้องกันการติดได้ดีพอสมควรยังมีอยู่มากและทำให้คนที่ติดเชื้ออยู่มีอาการหนักในห้องไอซีอยู่มากมายขณะนี้

ทั้งนี้ ถ้าดูตัวเลขผู้ป่วยในไอซียูตามตัวเลขทางการที่สอดท่อจะดูเหมือนไม่มากไม่กี่ 100 ราย แต่ในความเป็นจริงที่รอเข้าไอซียู แต่เข้าไม่ได้เพราะเตียงเต็ม ยังมีอยู่อีกมากและยื้ออยู่โดยการให้ออกซิเจนปริมาณสูงประทังไว้ และจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสายเดลต้า หรือเบต้า เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยโดยที่สายพันธุ์ปกติยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลากหลายคำถามถึงการฉีด'วัคซีนโควิด 19แต่หลายประเทศที่ประชาชนจำนวนมากได้รับ'วัคซีนโควิด 19' ก็แสดงให้เห็นชัดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลดน้อยลง  ฉะนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มีความสำคัญ ทุกคนควรฉีด'วัคซีนโควิด 19'