ตามหาคุณค่าแท้ลายแทง ‘แผนที่วัฒนธรรมเยาวราช’

ตามหาคุณค่าแท้ลายแทง ‘แผนที่วัฒนธรรมเยาวราช’

ลงถึงรากของ “เยาวราช” กับงานวิจัยเจาะลึกไชน่าทาวน์เมืองไทยในหลากหลายแง่มุมทางวัฒนธรรม แล้วปักหมุดอัตลักษณ์แห่งชุมชนชาวจีน

คุณรู้จักเยาวราชดีแค่ไหน? แม้ในสายตาของคนทั่วไป เยาวราช ยังคงเป็นย่านเก่าแก่ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ ทั้งกลิ่นอายศิลปสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตวัฒนธรรม อาหารสารพัดชนิด โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงการเป็นย่านค้าทองและย่านธุรกิจที่สำคัญ ทว่าในสายตาของคนในพื้นที่แล้ว คุณค่าแท้ของเยาวราชกำลังค่อย ๆ เลือนหายไปทุกที ทุกวันนี้หากถามถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชุมชนชาวจีน อาจต้องใช้เวลาไล่เรียงกันนานทีเดียว

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเมืองและการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย เพื่อค้นหาอัตลักษณ์และสานต่อจิตวิญญาณของเยาวราชไว้ก่อนที่จะสูญหาย รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะทำงาน ได้จัดทำ แผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราช  ภายใต้ “โครงการวิจัยการพัฒนาทุนทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงพื้นที่และเชิงสหวิทยาการ ประกอบไปด้วย 9 สาขา ได้แก่ สาขาศิลปะ สาขาสถาปัตยกรรม สาขาโบราณคดี สาขาการออกแบบ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิทยาการจัดการ สาขาวัฒนธรรมอาหาร และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เคยรู้มั้ยว่าตึกร้านทองเยาวราชสวยมากรศ.ดร.อภิรดี เอ่ยถามเพราะรู้ดีว่าคนส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยแหงนหน้าไล่สายตาไปตามอาคารเหล่านั้นแบบจริงๆ จังๆ ทั้งที่ร้านทองเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นเยาวราชได้เป็นอย่างดี

 “ยกตัวอย่าง ร้านทองตั้งโต๊ะกัง เป็นอาคาร 7 ชั้น มีการออกแบบในสไตล์โคโลเนียลที่สวยงามมาก และสร้างมานานกว่า 100 ปีแล้ว สิ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังทำคือ แผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราช เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าในด้านต่างๆ ที่มีและปรากฎอยู่ในพื้นที่ย่านเยาวราชในปัจจุบัน โดยต้องบอกได้ว่าทุกวันนี้เราเห็นอะไรบ้างในเยาวราช แล้วสิ่งที่เห็นอยู่นั้นมีส่วนไหนบ้างที่หลงเหลือมาจากอดีต และส่วนไหนที่เปลี่ยนไปแล้ว

ปัจจุบันการทำ แผนที่ทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Mapping ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ โดยจะมีการสำรวจและบันทึกข้อมูลของมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่นทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม ศาลเจ้า ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ฯลฯ รวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความเชื่อ ตำรับอาหาร ความทรงจำ ฝีมือช่าง ฯลฯ ซึ่งในการจัดทำแผนที่และการประเมินคุณค่าของอาคารและสถานที่ต่างๆ นั้น ขั้นตอนอันดับแรก คือ การกำหนดเกณฑ์คุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม

162373797992

ทิวทัศน์กรุงเทพฯ ย่านเยาวราช มองเห็นสี่แยกวัดตึก

รศ.ดร.อภิรดี เล่าว่า คณะทำงานได้ศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทางสถาปัตยกรรมและชุมชนเมือง รวมถึงแนวทางต่างๆ ที่เคยมีการดำเนินการมาก่อน เช่น เกณฑ์จากกฎบัตรของ UNESCO เกณฑ์ของ ICOMOS เกณฑ์กรมศิลปากร รวมถึงเกณฑ์ของสมาคมสถาปนิกสยามเรื่องอาคารอนุรักษ์ เพื่อใช้เปรียบเทียบและจัดทำเกณฑ์กำหนดคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ในการจัดทำแผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราช ซึ่งกำหนดออกมาได้ “4 คุณค่าหลัก และ 10 คุณค่าย่อย ทั้งนี้ถือเป็นตัวชี้วัดด้านคุณค่าที่จัดทำขึ้นใหม่ในประเทศไทยและไม่เคยใช้ที่ไหนมาก่อน

คุณค่าหลัก 4 ด้าน ได้แก่ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historic value) คุณค่าทางวิทยาการและการศึกษา (Scientific Zalue) และคุณค่าทางสังคม (Social value) ส่วนคุณค่าย่อย 10 ด้าน ได้แก่ ด้านศิลปกรรม (Art) ด้านสถาปัตยกรรม (Architecture) ด้านผังบริเวณ (Landscape) ด้านเอกลักษณ์ (Characteristic) ด้านหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ (Heritage) ด้านความแท้ดั้งเดิม (Authenticity) ด้านความหายาก (Rarity) ด้านการเปลี่ยนแปลง (Evolution) ด้านความผูกพันกับท้องถิ่น (Locality) และด้านความต่อเนื่องในการใช้อาคารตามประโยชน์ใช้สอยเดิม (Functional Continuity)”

เมื่อได้เกณฑ์เพื่อกำหนดคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว การสำรวจและประเมินอาคารและสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ได้เริ่มต้นขึ้น โดยคณะทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูล ถ่ายภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 1 - 5 ตามคุณค่าทั้ง 10 ด้าน นอกจากนี้ยังสอบถามพูดคุยกับผู้นำชุมชน คนที่เข้ามาอาศัยหรือค้าขายในพื้นที่เยาวราชเกี่ยวกับอาคาร สิ่งก่อสร้าง พื้นที่ หรือองค์ประกอบที่คิดว่ามีคุณค่าในย่านเยาวราช

เวลาทีมสำรวจลงพื้นที่จะเก็บชื่ออาคารทุกอาคารที่อยู่ในพื้นที่ศึกษา เก็บประโยชน์การใช้ที่ดินตามเกณฑ์คุณค่าทั้ง 10 ด้าน โดยแต่ละด้านจะประเมินเป็นคะแนน 1, 2 และ 3 เทียบเท่าคุณค่าน้อย ปานกลาง และมาก ตัวอย่างการประเมินคุณค่าอาคาร เช่น ด้านความต่อเนื่องในการใช้อาคารตามประโยชน์ใช้สอยเดิม อาทิ ร้านเอี๊ยะเซ้ง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนมังกร เป็นร้านโชว์ห่วยเก่าแก่ที่ขายมากว่า 80 ปี แบบนี้จะประเมินคะแนนเท่ากับ 3 เพราะถือว่ามีคุณค่าสูงมาก

162373803692

อาคาร SAB

ทั้งนี้อาคารและสิ่งก่อสร้างในเยาวราชที่คณะทำงานสำรวจในพื้นมีทั้งหมด 5,529 อาคาร โดยข้อมูลผลการสำรวจทั้งหมดจะบันทึกและจัดทำในระบบแผนที่และข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ (Geographic Information System - GIS) เพื่อที่จะนำไปใช้ศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต

เราเก็บข้อมูลกว่า 5,500 อาคาร จำนวนอาคารละ 5 ชั้น ตามเกณฑ์ประเมิน 10 ด้าน นั่นหมายความว่าจะมีข้อมูลผลการสำรวจเกือบ 280,000 ชุด ที่ต้องบันทึกข้อมูลและประมวลผล ถือเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาลและเป็นข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับจัดทำแผนที่และข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ของเยาวราช

ไม่เพียงอาศัยกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ คณะทำงานยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญใน 9 สาขา เพื่อประเมินผลและสังเคราะห์คุณค่าในด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน สำหรับจัดทำแผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราช

คณะทำงานตั้งเป้าหมายจัดทำแผนที่คุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมพื้นฐาน 10 แผนที่ และแผนที่รวมคุณค่าอีกหนึ่งแผนที่ แต่ในเบื้องต้นจากการเวิร์กชอปจะมีการจัดทำแผนที่วัฒนธรรม 4 แผนที่ ตามความสำคัญที่คณะผู้วิจัยเห็นว่าควรเผยแพร่ก่อน ได้แก่ แผนที่วัฒนธรรมด้านศาสนสถาน แผนที่วัฒนธรรมด้านอาชีพและผลิตภัณฑ์ แผนที่ทางวัฒนธรรมด้านวัตถุดิบอาหารเชิงเทศกาล และแผนที่วัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์

162373794745

แผนที่วัฒนธรรมด้านศาสนสถาน เป็นการรวบรวมศาสนสถานที่มีอยู่จำนวนมากและอยู่คู่กับย่านเยาวราชมายาวนาน ซึ่งมีด้วยกันหลายประเภททั้ง วัดไทย วัดจีน วัดญวน ศาลเจ้าและมัสยิด ไม่นับรวมถึงศาลเจ้าที่มีขนาดเล็กมากหรือศาลพระภูมิประจำพื้นที่ย่อย ๆ ที่มักตั้งอยู่บริเวณท้ายซอย ศาสนสถานในย่านนี้มักเป็นอาคารที่สำคัญมีคุณค่าทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในหลายๆ ด้าน รวมถึงเป็นอาคารและสถานที่ที่เก่าแก่ มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ในอดีต หลายแห่งได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีและมีการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นศูนย์รวมทางสังคมและจิตใจของคนในเยาวราช

ศาสนสถานแต่ละที่จะมีการประเมินคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม เช่น ศาลเจ้าที่มีคุณค่ามากที่สุดจะมีคะแนนคุณค่าหลัก 4 ด้าน ได้แก่ คุณค่าทางสุนทรียภาพ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวิทยาการและการศึกษา คุณค่าทางสังคมสูงที่สุด เช่น วัดมังกร ศาลเจ้ากวางตุ้ง แต่แม้บางวัดหรือศาลเจ้าที่ไม่มีคะแนนสูงครบทั้ง 4 ด้าน ก็อาจมีความโดดเด่นเฉพาะด้าน เช่น อาจจะไม่มีคุณค่าทางศิลปะเลย แต่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมใจของชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่และชุมชนมาเสริมกัน หรือศาลเจ้าบางศาลเจ้าไม่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม แต่ในเชิงสังคมและประวัติศาสตร์มีคุณค่ามาก สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเพราะเหตุใดการทำแผนที่ทางวัฒนธรรมจึงต้องจัดทำข้อมูลจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้นำเสนอได้ครอบคลุมทุกมิติ

สำหรับแผนที่วัฒนธรรมในด้านอื่นๆ รศ.ดร.อภิรดี ขยายความว่า แผนที่ทางวัฒนธรรมด้านวัตถุดิบอาหารเชิงเทศกาล แสดงถึงย่านการค้าวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน และในเทศกาลที่มีความหมายและคุณค่าต่อวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลกินเจ ฯลฯ ซึ่งมีความสำคัญกับทั้งผู้ที่อยู่ในย่านเยาวราชและพื้นที่ใกล้เคียง จนถึงคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศไทย

162373794810

ส่วนแผนที่วัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์ คือการรวบรวมอาคารและสิ่งก่อสร้างในย่านเยาวราชหลายแห่งที่ก่อสร้างมานานเกิน 170 ปี อาคารเหล่านี้เป็นหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของย่านเยาวราช จากการขยายตัวของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงถนนเจริญกรุงและถนนอีกหลายสายด้านทิศเหนือของถนนเจริญกรุง อาคารและสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ หลายอาคารมีคุณค่าด้านศิลปะและวัฒนธรรม

สุดท้ายแผนที่วัฒนธรรมด้านอาชีพและผลิตภัณฑ์ เป็นการรวบรวมผลิตภัณฑ์สินค้าและอาชีพสำคัญของคนย่านเยาวราชที่ยังคงสืบเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากเยาวราชไม่เพียงเป็นย่านการค้าที่เก่าแก่และเคยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของกรุงเทพฯ และประเทศไทยในสมัยหนึ่ง แต่ยังเป็นย่านการผลิตที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการค้าด้วย ซึ่งนับวันการค้าและการผลิตหลายประเภทเริ่มลดปริมาณลงและหายไปจากพื้นที่

ตัวอย่างอาชีพที่เห็นได้ชัดและอยู่คู่เยาวราชมายาวนาน คือร้านทอง ซึ่งยังเป็นการค้าหลักของพื้นที่แห่งนี้ ส่วนอาชีพที่ใกล้จะสูญหายแล้ว เช่น ร้านทำตะเกียงจีน เป็นงานโลหะ เหตุผลที่เหลืออยู่เพียง 1 - 2 ร้าน เพราะว่าตะเกียงเป็นสินค้าที่ใช้ได้นานหลายสิบปี พอไม่ต้องซื้อบ่อย ร้านก็ค่อย ๆ หายไป นอกจากนี้แล้วก็ยังมีร้านขายแบตตาเลี่ยนตัดผม ร้านฉลุโลหะซึ่งเหลืออยู่เพียงร้านเดียวตรงปลายถนนทรงสวัสดิ์ ส่วนที่น่าสนใจคือร้านตัดเสื้อสูทซาร่า ซึ่งก็เหลือเพียงร้านเดียว จากเดิมที่เยาวราชเคยเป็นแหล่งตัดเสื้อที่สำคัญเพราะเป็นย่านที่อยู่ติดกับพาหุรัด ซึ่งเป็นแหล่งขายผ้าม้วนที่ใหญ่มาก แต่ด้วยกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย หลายอาชีพที่เคยเฟื่องฟูบนถนนมังกรสายนี้ก็ค่อยๆ ซบเซาหายไป

อย่างไรก็ดี แม้เยาวราชจะไม่อาจต้านทานกระแสการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ แต่การจัดทำแผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราชถือเป็นจุดเริ่มสำคัญที่จะเก็บบันทึกและสะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นคุณค่าแท้ของเยาวราชไว้ให้คนเยาวราช รวมถึงประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงรากเหง้าอันเป็นแก่นแท้ที่ไม่ใช่เพียงแค่เปลือกของถนนมังกรสายนี้

162373811817

ร้านเอี๊ยะเซ้งกงษี

  • อาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูง

หากมีโอกาสเดินทอดน่องท่องเยาวราชลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ จะเห็นอาคารและสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ร้านทองที่หลายคนอาจคุ้นตาอยู่แล้ว อาคารพาณิชย์ ศาลเจ้า โรงพยาบาล หรือตึกแถวต่างๆ โดยในกระบวนการจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมได้มีการสำรวจและประเมินคุณค่าตามเกณฑ์ที่ได้กล่าวไปแล้ว สรุปว่าในย่านเยาวราชซึ่งเป็นพื้นที่วิจัย มีกิจการที่ตั้งอยู่ในอาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูง (รวมจาก 10 คุณค่าย่อย) 50 กิจการ

ในจำนวนทั้ง 50 กิจการนี้ ประกอบไปด้วยอาคาร “ร้านค้าทอง” มากที่สุดถึง 9 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ร้านทองเพชรสุวรรณ อาคาร้านทองจิ้นฮั้วเฮงและห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง ห้างทองทองใบ ห้างตั้งโต๊ะกัง ห้างขายทองโต๊ะกังเยาวราช ห้างทองโต๊ะกังเยาวราช ห้างขายทองเซ่งเฮงหลี ตรามงกุฎ ห้างทองเลี่ยงเซ่งเฮง และห้างทองเลี่ยงเซ่งเฮงสาขา 1

รองลงมาเป็นกิจการที่เกี่ยวกับ “ร้านอาหารและร้านขายวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร” 8 แห่ง ได้แก่ ร้านอาหารจีนฮั่วเซงเฮง ร้านราดหน้าฮุ่นกวง ร้านเยาวราชโภชนา ร้านง้วนเชียงเยาวราช ร้านเอี๊ยะเซ้งกงษี และร้านขายวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร 2 ร้านที่ถนนเยาวราช

อาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูงอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ “ศาลเจ้า” มีทั้งหมด 5 ศาลเจ้า ได้แก่ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอ๊ย ศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยว ศาลเจ้าแม่กวนอิมฉื่อปุยเนี้ยเนี่ย ศาลเจ้ากวางตุ้งและศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ถัดมาคือ “ธนาคาร” 5 ธนาคาร อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ (ตึก SAB) ธนาคารกรุงไทย/หอศิลป์กรุงไทย ธนาคาร ICBC ไทย ธนาคารกรุงเทพที่แยกถนนมังกรและซอยวานิช 1 และธนาคารกสิกรไทยที่ถนนเยาวราช

นอกจากนี้ยังมีอาคารของ “กิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคม” 4 อาคาร ได้แก่ สมาคมเล่งฮั้ว หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า (ตึก SEC) พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน และบ้านเก่าเล่าเรื่องที่ชุมชนเจริญไชย “วัด” 3 วัด คือ วัดมังกรกมลาวาส วัดสัมพันธวงศ์และวัดโลกานุเคราะห์ “โรงพยาบาล” 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกว๋องสิวมูลนิธิ โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ และโรงพยาบาลสัตว์พลับพลาไชย รวมไปถึง “โรงแรม” 2 โรงแรม ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ไชน่า และ โรงแรมโกลเด้นเชน

162373825190

ส่วนที่เหลืออีก 10 อาคาร เป็น “กิจการอื่น ๆ และอาคารว่างให้เช่า” ได้แก่ ได้แก่ กิจสยามวัฒนาเทรดดิ้ง สูททรงสมัย ภัทราวดีเท็กซ์ไทล์ บริษัทขวานทองจำกัด ร้านล้อเกวียน เกียเสง บริษัทลี่ฮะฮวด ร้านเลี่ยมกรอบพระแสงอรุณ ร้านไทยนคร และร้านลิ้มเฮงฮวด กิจการเหล่านี้บางกิจการตั้งอยู่ในอาคารเดียวกันและหลายกิจการตั้งอยู่ในอาคารของตัวเอง จะเห็นได้ว่า อาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูงย่านเยาวราชมีความหลากหลายของประเภทประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ภายในอาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่มรวยของย่านเยาวราชได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.อภิรดี กล่าวว่า “เราอยากให้คนที่มาเที่ยวเยาวราชได้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของรากเหง้าวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นแก่นแท้ของเยาวราชที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่เพียงร้านอาหาร หรือสตรีทฟู้ดที่อยู่บนท้องถนนเท่านั้น อีกทั้งทำอย่างไรให้เยาวราชยังคงรักษาอัตลักษณ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าเราไม่ได้ต้องการบอกว่าคนเยาวราชควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เราเพียงศึกษาจัดทำข้อมูลและหวังเพียงว่างานวิจัยของเราจะจุดประกายคนเยาวราชให้ลุกขึ้นมารักษาตัวตนของความเป็นเยาวราชไว้ และสามารถอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างดีและมีความสุข

162373826475

ทั้งนี้จุดหมายปลายทางของคณะทำงานไม่ใช่เพียงแผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราช แต่ทีมวิจัยยังหวังสานต่องานวิจัย นำข้อมูลทั้งหมดที่สำรวจและรวบรวมได้มาจัดทำเป็นแพลตฟอร์มกลาง เช่น วิกิเยาวราชที่สามารถเปิดให้ประชาชนรวมถึงคนเยาวราชเองเข้ามามีส่วนเพิ่มเติมและแก้ไขข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่เยาวราชได้นำข้อมูลไปใช้ในการศึกษา และวางแผนการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ และสืบสานมรดกของเยาวราชให้เดินไปสู่อนาคตได้อย่างสง่างาม