ทันตแพทย์แจง 'วัคซีนโควิด 19' ไม่มีผลต่อการ 'ทำฟัน'

ทันตแพทย์แจง 'วัคซีนโควิด 19' ไม่มีผลต่อการ 'ทำฟัน'

"สถาบันทันตกรรม" แจง "วัคซีนโควิด-19" ไม่มีผลต่อการรักษาทาง "ทำฟัน" ภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีน ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

จากกรณีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ประเด็นมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาชาในการรักษาทางทันตกรรม หลังรับ "วัคซีนโควิด-19"

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวพบว่า ข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อประชาชน โดยการรักษาทาง "ทันตกรรม" หรือ การ "ทำฟัน" ที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาชาร่วมด้วยนั้น สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการรับ "วัคซีนโควิด-19"

ภายใต้ความปลอดภัยของผู้ป่วยและประสิทธิผลการรักษาที่ดีที่สุด ก่อนการรักษาควรได้รับคำแนะนำและประเมินตามขั้นตอนโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ

  • ย้ำ 'ทำฟัน' ไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน รับ 'วัคซีนโควิด 19' 

ทพญ.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาชาที่ใช้ในการรักษาทาง ทันตกรรม หรือ ทำฟัน ประกอบด้วย ตัวยาชา ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนของสารป้องกันการเสื่อมสลายของยาทั้งสองชนิด และส่วนของตัวทำละลาย

โดยยาชาที่ใช้ทางทันตกรรม มี 2 รูปแบบคือ ยาชาชนิดฉีด และชนิดเจล ใช้เพื่อระงับความรู้สึกในบริเวณที่ต้องการทำการรักษา และบรรเทาอาการปวดภายหลังการรักษา ซึ่งไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน ทั้งก่อนและหลังการรับ วัคซีนโควิด-19 ในปริมาณยาชาที่เหมาะสมและถูกต้อง ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรม สามารถรับการฉีดยาชา เพื่อทำหัตถการทางทันตกรรมได้อย่างปลอดภัย

  • แนะรับ 'วัคซีนโควิด 19' 2-3 วัน สามารถ 'ทำฟัน'ได้

ทั้งนี้ ในหัตถการที่ไม่เร่งด่วน ควรเข้ารับการรักษาก่อนรับวัคซีนหรือภายหลังรับวัคซีนโควิด 2-3 วัน แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น ภาวะไข้ ว่ามีอาการข้างเคียงจากการรักษาทางทันตกรรม หรืออาการข้างเคียงจากวัคซีน

ส่วนในกรณีอาการฉุกเฉินเร่งด่วนทางทันตกรรม หรือ ทำฟัน สามารถขอคำแนะนำและรับคำปรึกษา รวมถึงประเมินอาการจากทันตแพทย์ได้ ตามแนวทางบริการทางทันตกรรมวิถีใหม่ New Normal Dental Services