ก้าวไกลแถลงจุดยืน หนุนปิดสวิซต์ส.ว. เมินลงชื่อญัตติเพื่อไทยแก้ม.256

ก้าวไกลแถลงจุดยืน หนุนปิดสวิซต์ส.ว. เมินลงชื่อญัตติเพื่อไทยแก้ม.256

ก้าวไกลแถลงจุดยืน หนุนปิดสวิซต์ส.ว. เมินลงชื่อญัตติเพื่อไทยแก้ม.256

ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ นายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล รวมแถลงผลการการประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกล ต่อประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีมติดังต่อไปนี้

1.พรรคก้าวไกลเห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้งนี้ขอคัดค้านหากประธานรัฐสภาจะเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อน

2.พรรคก้าวไกลเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการ “ต่ออายุ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก ผ่านการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่ตนเองคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน และผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น

3.การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หลากหลายมาตราตามเกมของพรรคพลังประชารัฐนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือไปช่วยกันตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น และช่วยกันต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์  ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบันควรพุ่งเป้าให้ชัดเจนไปยังการปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจึงเห็นชอบให้เสนอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช.  ดังนั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วยื่นต่อประธานสภา

4.ที่ประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกลมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เนื่องจากเราไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ 

 “พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน  พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า สสร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ สสร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ทุกฝ่าย เคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน”

5.สำหรับเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด

 “ระบบการเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาล

 “ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทุกเสียงต้องถูกนับ”

นายพิธา ระบุว่า สาเหตุที่ไม่ร่วมลงชื่อในการแก้ไข มาตรา 256 ร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั้น ประการแรกคือ ต้องทำตามกระบวนการ เนื่องจากการเสนอญัตตินี้คราวก่อน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติจึงต้องไปดำเนินการตามนั้น

อีกประการหนึ่งคือพรรคก้าวไกลเองก็จะร่างแก้ไขมาตรานี้ในแนวทางของพรรค อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ต้องหลังจากผ่านการประชามติแล้ว ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจึงอยากมุ่งไปที่ มาตรา 272 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปิดสวิตช์ ส.ว.

 "เรายืนยัน่าพร้อมต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งแบบจำนวนบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 40 เท่านั้น ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด"