ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่ง 13.70 ดอลล์เหตุดอลล์แข็งทุบราคา

ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่ง 13.70 ดอลล์เหตุดอลล์แข็งทุบราคา

ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดตลาดวันจันทร์ (14 มิ.ย.)ดิ่งลง 13.70 ดอลลาร์ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมนโยบายการเงินในวันนี้

นอกจากนี้ ราคาทองยังได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนพากันขายทำกำไร หลังจากราคาดีดตัวขึ้นก่อนหน้านี้

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 13.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,865.90 ดอลลาร์/ออนซ์

นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 15-16 มิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

อย่างไรก็ดี คาดว่าเฟดจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินคิวอีในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค. และจะเริ่มดำเนินการปรับลดคิวอีในเดือนธ.ค.หรือต้นปีหน้า ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566

การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ จะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากัน หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว เฟดต้องจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่ผ่านมา การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆทั่วโลก เดินทางเข้าร่วมการประชุม ขณะที่ไฮไลท์จะอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟดในขณะนั้นเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อปีที่แล้ว โดยได้ประกาศการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ ซึ่งเฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ คาดว่านายพาวเวลจะส่งสัญญาณการปรับลดวงเงินคิวอีท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินเตรียมพร้อมรับการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟดก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมา ประเทศในตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนามักได้รับความเสี่ยงสูงสุดจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน และหากเฟดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินด้วยการปรับลดคิวอี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ และกระทบอย่างหนักต่อตลาดเกิดใหม่ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2541 และ 2556