'ไทย-อียู' เดินหน้าทำเอกสารความคาดหวัง ตั้งเป้าเริ่มเจราเอฟทีเอ ปีหน้า

'ไทย-อียู' เดินหน้าทำเอกสารความคาดหวัง ตั้งเป้าเริ่มเจราเอฟทีเอ ปีหน้า

“จุรินทร์” หารือทูตอียูประจำประเทศไทย เห็นพ้องทำ เอฟทีเอ ไทย-อียู เผย เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเจรจาทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน คาดเสร็จปลายปีนี้ เริ่มเจรจาได้ปีหน้า พร้อมเห็นชอบเร่งปฏิรูปดับบลิวทีโอ ใช้ CL วัคซีน เพื่อให้ทุกประเทศเข้าถึงวัคซีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ว่า ไทยและอียู เห็นตรงกันที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ไทย-อียู

โดยขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการเจรจา ซึ่งระดับเจ้าหน้ากำลังเร่งหารือทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน เพื่อใช้เป็นต้นร่างในการนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ทั้งในส่วนของไทย และรัฐบาลของอียู เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป

การหารือครั้งนี้ อียู คาดหวังว่า ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่ทำเอฟทีเอกับอียู โดย 2 ประเทศแรก คือ เวียดนามและสิงคโปร์ ซึ่งหากว่าเอฟเอไทย-อียูเกิดขึ้นจริงและมีผลบังคับใช้ประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน เพราะการค้าไทยกับอียูถือว่าสูงมาก คิดเป็น 8% ของการค้าไทยกับโลก

162366312678

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยและอียูยังมีความเห็นร่วมกันในการใช้องค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ (WTO) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าในระบบพหุภาคี และจะต้องเร่งเรื่องการปฏิรูปดับบลิวทีโอ ให้มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทให้ได้โดยเร็ว เร่งสรุปการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง รวมทั้งเห็นร่วมกันในการส่งเสริมการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และยังหารือในเรื่องวัคซีน โดยเห็นตรงกันเรื่องให้มีการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร (CL) วัคซีนเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยจะดำเนินการเจรจาในดับบลิวทีโอ ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่รัฐมนตรีดับบลิวทีโอ ในวันที่ 30 พ.ย.2564 เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนก่อน

ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ท่านทูต เชิญภาคเอกชนของอียูเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยในช่วงเดือนก.ค.-ธ.ค.2564 โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching – OBM) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น สเปน เดนมาร์ก อิตาลี เช็ก เป็นต้น โดยไทยจะจัดงานแสดงสินค้าหลายกลุ่ม เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

162366313733

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับเอกสารความคาดหวังที่จะนำไปสู่การเจรจาทำ เอฟทีเอ จะครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายสนใจ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นก่อนการเจรจาจริง เมื่อได้ข้อสรุปตรงกันก็จะดำเนินกระบวนการภายใน โดยในส่วนของไทย จะต้องเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบก่อนการเจรจา ทางอียู ก็เช่นเดียวกัน คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ในปีนี้และเริ่มต้นการเจรจาได้ในต้นปีหน้า