ถ้ามี "วัคซีนโควิด" แค่ 2 แบบ  จะเลือกแบบไหนดี

ถ้ามี "วัคซีนโควิด" แค่ 2 แบบ  จะเลือกแบบไหนดี

มาทำความรู้จักที่มาที่ไปและการวิเคราะห์วัคซีนโควิดทั้ัง 2 ยี่ห้ออีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมและสร้างความชัดเจน ก่อนที่เราจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

"วัคซีน มีจุดประสงค์เดียวคือ ทำให้เรามี ภูมิคุ้มกัน ต่อต้านการเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อ ถ้าเรามีภูมิคุ้มกัน เราก็จะไม่ป่วย สิ่งสำคัญกว่าจะได้วัคซีนมาใช้ต้องผ่านหลายด่าน ตั้งแต่ทดสอบในห้องแล็บ, ทดสอบในสัตว์ทดลอง, ทดสอบในมนุษย์กับอาสาสมัครจำนวนเยอะมากถึง 3 เฟส 

ในแง่ของความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการทดสอบจริง แสดงให้เห็นว่าได้ผลแน่ จึงจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ วัคซีนโควิดจึงปลอดภัยมาก และได้ผล อยากเชิญชวนให้ทุกคนไปฉีด"

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร อายุรแพทย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงที่มาของวัคซีนที่กว่าจะได้ไม่ง่ายเลย

ทางเฟซบุ๊ค WiTcast หัวข้อ ‘วัคซีนแคสต์’ ที่ดำเนินรายการโดย แทนไท ประเสริฐกุล และ ลินินา พุทธิธาร เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 เพื่อตอบข้อสงสัยให้กับแฟนรายการคุยวิทย์ติดตลก

162366271199

  • ที่มาของ"วัคซีน"

Sinovac กับ Astra Zeneca เป็นวัคซีนที่ถูกเปรียบเทียบกันมาตลอดในประเทศไทย เนื่องจากมีให้ฉีดเพียงแค่ 2 ยี่ห้อ บ้างก็ไม่อยากฉีดอีกตัว เพราะมีผลข้างเคียงมากกว่า บ้างก็อยากฉีดตัวที่สร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า คุณหมอมานพอธิบายว่า วัคซีนสองตัวนี้ ใช้วิธีการสร้างที่แตกต่างกัน ผลที่ได้ก็เลยแตกต่าง

"ถ้าเรามาดูวัคซีน 2 ตัวที่เรามีอยู่ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ คือ Sinovac กับ Astra Zeneca สองตัวนี้ใช้เทคโนโลยีสร้างวัคซีนต่างกัน ซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นวิธีดั้งเดิมในการสร้างวัคซีนตั้งแต่แรกของโลกมาจนถึงปัจจุบัน หลายชนิดเราคุ้นเคยกันดี เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนคอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก ใช้วิธีนี้หมด

ด้วยการเอาเชื้อมาเพาะเลี้ยง แล้วผลิตออกมาเยอะๆ ในแล็บ จากนั้นทำให้มันตาย เราก็ไม่ติดเชื้อจากมันหรือป่วยจากมัน แต่ยังมีซากเชื้ออยู่ เวลารับเข้าไปในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะรู้ว่ามันไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งแปลกปลอมที่รุกรานเข้ามาก็ตอบสนองด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านมัน 

หลังจากนั้นถ้าเราติดเชื้อตัวนี้ที่ยังมีชีวิต ร่างกายก็จะรู้แล้วว่านี่คือศัตรูตัวร้าย ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านได้ วัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนที่ดี แต่มีข้อด้อยตรงที่กระตุ้นภูมิได้ไม่ค่อยดีเท่าไร จากการศึกษาในอาสาสมัครเฟสสามของประเทศบราซิล ได้ผลออกมา 50.7 %"

  • "วัคซีน"ที่ดีต้องตอบโจทย์ได้

ในการศึกษาเรื่องวัคซีนนั้น คุณหมอบอกว่า เวลาเขาดูประสิทธิภาพ เขาจะมีคำถามหลักเพียงคำถามเดียว นั่นก็คือ ฉีดแล้วจะป่วยหรือติดเชื้อจากโรคนี้หรือเปล่า

"คำตอบของซิโนแวค ค่าออกมา 51% หมายความว่า ถ้าเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน คนที่ฉีดสามารถป้องกันได้ มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดถึงครึ่งหนึ่ง สมมติโอกาสติดโควิดเท่ากับ 4 % คนที่ฉีดจะมีโอกาสติดเหลือ เพียง 2 % ประสิทธิภาพของซิโนแวคค่อนข้างต่ำ เกินเกณฑ์มานิดหนึ่ง ตามกำหนดของ WHO ต้องเกิน 50% ยี่ห้อนี้ได้ 50.7 %

ส่วน Astra Zeneca มีการสร้างวัคซีนที่ต่างออกไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เรารู้ว่าส่วนโปรตีนหนาม (spike protein) เป็นตัวทำให้ไวรัสโคโรน่า (โควิด19) ติดเชื้อเข้าสู่เซลล์เราได้ ทำให้เราป่วย เราก็จะทำให้หนามไม่สามารถมายึดเกาะกับเซลล์ หรือเข้าสู่เซลล์ของเราได้ ด้วยวิธี Viral Vector ตามหลักการให้ร่างกายหรือเซลล์ของเราผลิตโปรตีนหนามนี้ขึ้นมา 

แต่เราไม่มีต้นแบบ จึงต้องเอาแม่พิมพ์นี้นำเข้าสู่ร่างกายเรา โดยมีตัวพาเข้าไปคือ adenovirus ไวรัสที่เราเป็นหวัด นำส่ง DNA ของสไปค์โปรตีนเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย ให้เซลล์เอาตัวนี้ไปเป็นแม่พิมพ์ ผลิต RNA แล้วไปสร้างโปรตีน ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายเราสร้างแอนตี้บอดี้มาต่อต้านได้ จากการศึกษาในเฟสสาม ได้ผลในการฉีดสองเข็มอยู่ที่ 62-70 %"

162366275533

  • "วัคซีน"ต่างชนิด ผลข้างเคียงต่างกัน

คุณหมอมานพ เล่าว่า ผลข้างเคียงรวมๆ ของการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตาม จะคล้ายๆ กัน คือ เจ็บบริเวณที่ฉีด บวมๆ แดงๆ หลังจากนั้นสองวัน บางคนก็มีไข้ต่ำ ตัวรุมๆ ปวดเมื่อยตามตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายๆ คนเป็นไข้หวัดใหญ่ 1-2 วันก็หาย เกิดได้ในวัคซีนโควิดทุกชนิด

"แต่ละคนจะมีอาการเป็นไข้มากไข้น้อย เกิดจากการสร้างภูมิต่อต้านสิ่งแปลกปลอม เป็นปฏิกิริยาของร่างกาย คนที่มีอาการเยอะแสดงว่า ร่างกายมีระบบป้องกันที่ค่อนข้างแข็งแรง แอ็คทีฟมากๆ มักเจอในคนหนุ่มสาวหรือคนอายุน้อยๆ ส่วนในผู้สูงอายุไม่ค่อยเจอเท่าไร แต่คนสูงอายุที่มีผลข้างเคียงน้อย ไม่ได้แปลว่ามีภูมิน้อย หรือไม่พอ ถ้าเราฉีดแล้วก็จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาเพียงพอที่จะป้องกันได้"

คุณหมอ บอกอีกว่า ความวิตกกังวลเรื่องผลข้างเคียงรุนแรงถึงกับเสียชีวิตมีน้อย เพราะถ้ามีมาก วัคซีนตัวนั้นจะไม่มีทางผ่านด่านการศึกษาออกมาได้ ถ้าอันตรายขนาดนั้น เขาก็จะพับโครงการแล้วบอกว่าวัคซีนนั้นล้มเหลว

"ที่เราเจอ จะเป็น 1 ใน 100,000 หรือ 1 ใน 1,000,000 เพราะการศึกษาในเฟสสาม เราทำกับอาสาสมัครจำนวนหลายหมื่นคน เราไม่เจอ ไม่ได้แปลว่ามันไม่มี จะเริ่มเห็นเมื่อมีการฉีดไปเยอะๆ เป็นล้านคน สิบล้านคน ร้อยล้านคน ก็จะเริ่มเห็น เรื่องผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วง ของซิโนแวคยังไม่มี ข้อมูล ณ ตอนนี้นะครับ 

  • ลิ่มเลือดอุดตัน?

"ในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้ยินว่า ลิ่มเลือดอุดตัน มีชื่อทางการแพทย์ เรียกว่า VITT ย่อมาจาก Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia คือถูกเหนี่ยวนำ ถูกกระตุ้นโดยวัคซีน เกิดลิ่มเลือด หรือเกล็ดเลือดต่ำ เกิดขึ้นจำเพาะสำหรับวัคซีนกลุ่มที่เป็น Viral Vector

ตามข้อมูลของยุโรปที่มีการฉีดไปก่อนไทยหลายสิบล้านคนแล้ว เกิดขึ้น 1 ต่อ 110,000 คน แล้วแต่ละประเทศ แต่ละชนชาติ ก็มีการเกิดที่ไม่เท่ากัน เช่น ในยุโรป คนตะวันตก ผิวขาว จะเจอเยอะ สำหรับคนเอเชียจะเจอเยอะไหม ยังบอกไม่ได้

ความเสี่ยงของคนที่จะเกิดภาวะ VITT ได้ หนึ่งคือ อายุน้อย ยิ่งอายุน้อยโอกาสเกิดจะสูงขึ้น สอง.ผู้หญิงเจอมากกว่าผู้ชาย ในอัตรา 1 ต่อ 50,000 หรือ 1 ต่อ 80,000 ในคนอายุเกิน 55 หรือ 60 แทบไม่เคยเจอเลย มีอัตรา 1 ต่อ 500,000 หรือ 1 ต่อ 1,000,000 วัคซีนทุกตัวมีความเสี่ยงหมด วัคซีนโควิดไม่ได้เสี่ยงมากไปกว่าตัวอื่น"

คุณหมอบอกว่า ที่สำคัญคนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วให้สังเกตอาการหลังฉีดช่วงวันที่ 4 -20 เพราะถ้าเกิดจะเกิดในช่วงนี้ อาการจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 1)ปวดศีรษะมาก 2) ตาพร่า 3) ปวดท้องรุนแรง ที่หาสาเหตุไม่ได้ 4)มีอาการแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน

"ถ้ามีอาการ 1 ใน 4 นี้ ให้ไปโรงพยาบาลแล้วแจ้งคุณหมอว่า เพิ่งฉีดแอสตร้าเซนเนก้ามา คุณหมอก็จะตรวจแล็บหนึ่งอย่าง ดูปริมาณเกร็ดเลือดว่าต่ำหรือเปล่า ถ้าเกร็ดเลือดต่ำ เขาจะทำการตรวจต่อทันที เพื่อหาเหตุว่าเกิดลิ่มเลือดไหม และเกี่ยวข้องกับวัคซีนนี้หรือเปล่า ทันทีที่รู้ว่าใช่ ในปัจจุบันมียารักษานะครับ ไม่ต้องกังวล

162366279053

หมออยากจะบอกว่า วัคซีนทุกตัวตอนนี้มีประโยชน์เหนือกว่าความเสี่ยง ทุกวันนี้มีคนไข้รายใหม่ 2,000-3,000 คนทุกวัน เราทุกคนมีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิดได้

วัคซีนทั้งสองตัวนี้มีประสิทธิภาพดี ป้องกันไม่ให้เราป่วยได้ ในคนไข้รายใหม่ 5% นั้นจะป่วยหนัก ต้องนอนโรงพยาบาลและมีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิต ตอนนี้คนไข้โควิดเต็มโรงพยาบาล ถ้าคนเป็นโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ หมอก็จะไม่ไหว"

  • กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรฉีดวัคซีน

กรณียกเว้นไม่ควรไปฉีดวัคซีน คุณหมอ บอกว่า  อันดับหนึ่งคือ เจ็บป่วยเฉียบพลันทุกชนิด แนะนำให้เลื่อนฉีดวัคซีน รอให้ดีขึ้นก่อนแล้วค่อยฉีด เช่น มีอาการปอดบวม หากต้องฉีดวัคซีนพรุ่งนี้ ก็ไม่ต้องไป หรือเพิ่งบอลลูนหัวใจไปสามวัน วันนี้เพิ่งพักฟื้นกลับบ้าน ยังไม่หายดี ก็ไม่ต้องไป

อันดับสอง กำลังจะไปฉีด แต่บังเอิญติดโควิด ก็ไม่ต้องไป ให้ไปรักษาโควิดก่อน ส่วนคนที่เป็นโควิดแล้ว ก็ยังต้องมาฉีดวัคซีน เพราะว่าการติดโควิด ภูมิคุ้มกันบางคนกระตุ้นได้น้อย ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่ติดเชื้อไวรัสอีก

"ส่วนคนที่ติดโควิดไปแล้วฉีดวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิได้ดีมากด้วยครับ ไม่แนะนำให้ฉีดผสมกันหลายยี่ห้อ แนะนำให้ฉีดตัวเดิมสองเข็ม แล้วค่อยฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม เป็นการบูสเตอร์ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทตอนนั้นว่ามีการระบาดมากน้อยแค่ไหน"