'สามารถ' เผยผู้รับเหมาเสนอใช้ TOR สายใต้ประมูลทางคู่เหนือ-อีสาน

'สามารถ' เผยผู้รับเหมาเสนอใช้ TOR สายใต้ประมูลทางคู่เหนือ-อีสาน

'สามารถ' เผย มีผู้รับเหมาหลายรายเสนอใช้ทีโออาร์สายใต้ประมูลทางคู่เหนือ-อีสาน

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ค "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" วันที่ 14 มิ.ย.2564 เกี่ยวกับการประมูลรถไฟทางคู่ ดังนี้ "เผย! มีผู้รับเหมาหลายรายเสนอใช้ทีโออาร์สายใต้ประมูลทางคู่เหนือ-อีสาน แต่เหลว!"

ก่อนประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สอบถามความเห็นจากผู้รับเหมาที่สนใจจะเข้าประมูล ปรากฏว่ามีผู้รับเหมาหลายรายเสนอให้ ร.ฟ.ท. นำข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (ทีโออาร์) ของสายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มาใช้ แต่ ร.ฟ.ท.ปฏิเสธ

การประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ ทำอย่างไร?

ร.ฟ.ท. ได้แบ่งการประมูลออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา ทำให้ได้ค่าก่อสร้างต่อสัญญาต่ำลง และได้กำหนดผลงานของผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลไว้ดังนี้

1. ต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 10% ของราคากลาง หรือ

2. ต้องมีผลงานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟหรือรถไฟฟ้าในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 7% - 8% ของราคากลาง และผลงานติดตั้งระบบรางรถไฟหรือรถไฟฟ้าในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 2% - 3% ของราคากลาง

การกำหนดผลงานไว้เช่นนี้ ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าประมูลได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่เท่านั้น เป็นผลให้การประมูลมีการแข่งขันกันมากกว่า สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้มากถึง 2,039 ล้านบาท คิดเป็น5.66% ของราคากลาง

การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ทำอย่างไร?

ร.ฟ.ท. ไม่ได้แบ่งการประมูลออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา ทำให้ค่าก่อสร้างต่อสัญญาสูง และได้กำหนดผลงานของผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลไว้ดังนี้

1. ต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 15% ของราคากลาง

2. ในกรณีสายเหนือซึ่งมีการก่อสร้างอุโมงค์ด้วย จะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 5% ของค่าก่อสร้างอุโมงค์

162363683531

การกำหนดผลงานไว้เช่นนี้ จะทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางไม่สามารถเข้าประมูลได้ด้วย จึงมีเฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่เพียง 5 รายเท่านั้นที่เข้าแข่งขันกัน ผลการประมูลจึงประหยัดค่าก่อสร้างได้เพียง 106 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% ของราคากลางเท่านั้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ไม่เหนือความคาดหมายของคนในวงการก่อสร้าง ซึ่งเห็นได้ว่าก่อนการประมูลมีผู้รับเหมาขนาดกลางหลายรายได้ทักท้วงการกำหนดผลงานไม่น้อยกว่า 15% ของราคากลาง และได้เสนอให้ใช้ผลงานไม่น้อยกว่า 10% ของราคากลางเหมือนสายใต้ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ยกตัวอย่างเช่น

“บริษัท...ขอเสนอว่า ร.ฟ.ท. ควรกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผลงานไว้เช่นเดิมเพียง 10% ของราคากลาง เพื่อให้โอกาสผู้ที่มีคุณสมบัติเดิมได้เข้าร่วมเสนอราคาด้วย บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เป็นการกีดกันผู้รับเหมารายอื่น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานราชการ” หรือ

“กรณีดังกล่าว (เพิ่มผลงานจาก 10% ของราคากลาง เป็น 15% ของราคากลาง) ถือเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้เสนอราคารายเดิมที่เคยมีสิทธิ์เสนอราคาเข้าร่วมเสนอราคาด้วย อันเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเฉพาะเจาะจง ทำให้มีผู้เสนอราคาน้อยกว่าปกติหรือไม่” หรือ

“ผลงานที่เป็นเกณฑ์ในการยื่นข้อเสนอควรลดมาให้เหลือ 10% ของราคากลาง เพื่อให้เป็นไปตามร่างประกาศการประมูลรถไฟทางคู่ของ ร.ฟ.ท. ข้อ 13 และ ข้อ 14

ข้อ 13 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง

ข้อ 14 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรม กรณีโครงการได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม”

นั่นหมายความว่าผู้รับเหมารายนี้คงเห็นว่าการเสนอให้ลดผลงานลงเหลือ 10% ของราคากลาง จะทำให้มีการแข่งขันกันมากกว่า เป็นผลให้สามารถป้องกันการทุจริตได้

แม้มีผู้รับเหมาหลายรายไม่เห็นด้วยกับการใช้ผลงานไม่น้อยกว่า 15% ของราคากลาง และได้เสนอให้ใช้ผลงานไม่น้อยกว่า 10% ของราคากลาง แต่ ร.ฟ.ท. กลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลเหมือนกันทุกรายว่า “การกำหนดเปอร์เซ็นต์ผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของกรมบัญชีกลางในการกำหนดคุณสมบัติและการกำหนดผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ”

ทั้งๆ ที่ ร.ฟ.ท. ได้ประจักษ์มาจากการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ แล้วว่าการกำหนดผลงานไม่น้อยกว่า 10% ของราคากลาง สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้มากถึง 20.51% ของราคากลาง

และทั้งๆ ที่ ร.ฟ.ท. มีประสบการณ์จากการประมูลรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โดยได้แยกการประมูลก่อสร้างอุโมงค์รถไฟช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ เป็นสัญญาย่อยต่างหาก ไม่รวมอยู่กับงานอื่น ทำให้สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้มากถึง 32% ของราคากลาง

แต่ทำไม ในการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ร.ฟ.ท. จึงไม่แบ่งการประมูลออกเป็นสัญญาย่อยหลายสัญญา และไม่กำหนดผลงานเป็นไม่น้อยกว่า 10% ของราคากลาง? ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญ การทำเช่นนี้ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางเช่นกัน