รู้ไว้ดีกว่า! ก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' ผู้ป่วย 'โรคหลอดเลือดหัวใจ' ต้องเตรียมตัวอย่างไร

รู้ไว้ดีกว่า! ก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' ผู้ป่วย 'โรคหลอดเลือดหัวใจ' ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ก่อนฉีด"วัคซีน"สำหรับผู้ป่วย"โรคหลอดเลือดหัวใจ" ที่มีสภาวะแตกต่างกัน ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพราะบางเคสต้องปรึกษาแพทย์ก่อน บางเคสไม่จำเป็น เรื่องนี้แพทย์มีคำแนะนำ

หลายคนกังวลผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวในการฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ จะมีคำถามมากมาย

ประเภท"โรคหลอดเลือด"ที่ต้องระวัง

การเข้าใจให้ถูกต้องและเตรียมตัวให้เหมาะสมก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องนี้ นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ในคนที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรังหากติดเชื้อ COVID-19 มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคที่รุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว เช่น 

1. ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีอาการเฉียบพลันและเข้ารับการรักษาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 

2. ผู้ป่วยโรคความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง 

3. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่ที่มีอาการหัวใจล้มเหลว 

4. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรังที่มีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ 

5. ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะรุนแรงหรือผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายหัวใจ 

6. โรคอ้วนรุนแรง โดยเฉพาะถ้ามีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 

7.ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่คุมไม่ได้ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

8. ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ในผู้ป่วยกลุ่มโรคเหล่านี้ควรได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ทันทีหากอาการสงบแล้ว เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 เพราะหากป้องกันตัวเองไม่ได้และได้รับเชื้อ COVID-19 ร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อได้ 

162340542676

ไม่อยากติดเชื้อไวรัสโควิด ต้องรีบฉีดวัคซีน

"ก่อนฉีดวัคซีน" ต้องเตรียมตัวอย่างไร

1. ตรวจสอบอาการของโรคที่เป็นอยู่ว่ามีอาการหรือไม่

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต้องพิจารณาว่ามีอาการที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ เช่น มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกแรงหรือออกกำลังกายบริเวณกลางหน้าอกหรือร้าวไปแขนซ้าย และโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลันร่วมด้วย เช่น เหนื่อย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหมอนสูง หรือมีภาวะน้ำท่วมปอดร่วมด้วย 

2. ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง 

ถ้าความดันโลหิตตัวบนสูงมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นจะต้องควบคุมความดันโลหิตก่อน ต้องควบคุมความดันโลหิตตัวบนให้ต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอทในวันก่อนมารับวัคซีน 

3. กรณีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิด Warfarin

ถ้าระดับ INR คงที่มาตลอดและ INR ต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีผลระดับ INR ก่อนหน้านี้อยูในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด (ไม่จําเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยาและไม่จําเป็นต้องตรวจ INR ก่อนรับวัคซีน) สามารถรับการฉีดวัคซีน COVID-19 ได้โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก 25G หรือ 27G ฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน แล้วกดตําแหน่งที่ฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบเย็นต่อด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น 

4.ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel, Ticagrelor หรือ Prasugrel สามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องงดยาก่อนฉีด ควรใช้เข็มขนาดเล็ก 25G หรือเล็กกว่า และไม่ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน ควรกดตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนนานอย่างน้อย 5 นาทีและแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ 

หากมีการนัดเพื่อทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจหรือผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจในกรณีที่โรคค่อนข้างสงบหรือไม่ได้แสดงอาการ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อประเมินโดยละเอียดว่า โอกาสที่จะติดเชื้อสูงหรือไม่

หากประเมินแล้วผลดีของการฉีดวัคซีนมีมากกว่า ควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย 

อาการแบบไหนต้องปรึกษาแพทย์

ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดตามที่กล่าวมาถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะทำให้ร่างกายสามารถฆ่าเชื้อได้เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่สูงพอ ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายได้และเชื้อไม่สามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นได้

หากทุกคนมีภูมิคุ้มกันอยู่ในร่างกาย เชื้อโควิด-19 จะไม่สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป จึงเป็นการตัดวงจรการระบาดและเป็นการตัดวงจรการกลายพันธุ์ของเชื้อไปด้วย 

สำหรับคนที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะเหล่านี้สามารถควบคุมได้และมีความคงที่ ไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีน

แต่ถ้ายังควบคุมไม่ได้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียดก่อนฉีดวัคซีน หากไม่แน่ใจหรือมีอาการผิดปกติที่คิดว่าอาจจะสัมพันธ์กับโรคที่เป็นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฉีดวัคซีน

หรือในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังจะต้องทำบอลลูนหรือใส่ขดลวด การรักษาด้วยการผ่าตัดทำ Bypass เส้นเลือดหัวใจที่ยังแสดงอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ ควรรักษาก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน

สำหรับการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ในกลุ่มผู้สูงอายุอาจพบเพียงแค่ 1 ในล้านโดสเท่านั้น และพบได้น้อยลงโดยเฉพาะในคนที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาต้านเกล็ดเลือด  

ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดควรได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการสังเกตอาการ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน เพื่อสามารถดูแลได้ทันหากมีภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะไม่พึงประสงค์

ในระยะแรกหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 30 นาที ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ และอาการไม่รุนแรง เช่น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ เหนื่อยหอบ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณข้อ หรือคลื่นไส้

ระหว่างที่สังเกตอาการ หากพบความผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินอาการทันที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 หรือโทร.1719