'เศรษฐีมะกันเลี่ยงภาษี'ปัญหาท้าทายแผนปฏิรูประบบภาษีธุรกิจสหรัฐ

'เศรษฐีมะกันเลี่ยงภาษี'ปัญหาท้าทายแผนปฏิรูประบบภาษีธุรกิจสหรัฐ

รัฐบาลสหรัฐกำลังเร่งตรวจสอบว่าข้อมูลด้านภาษีของบรรดานักธุรกิจชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ที่มีสินทรัพย์ระดับพันล้านอย่าง เจฟฟ์ เบโซส, อีลอน มัสก์ วอร์เรน บัฟเฟตต์และไมเคิล บลูมเบิร์ก รั่วไหลออกไปสู่สายตาสาธารณะชนได้อย่างไร

“ลิลี่ อดัมส์” โฆษกหญิงของกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและกระทรวงการคลังกำลังส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักงานตรวจการทั่วไป ผู้ตรวจการคลังทั่วไปสำหรับการจัดเก็บภาษี (ทีไอจีทีเอ) สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ (เอฟบีไอ) และสำนักงานอัยการสหรัฐประจำเขตโคลัมเบีย ซึ่งทั้งหมดนี้มีอำนาจอิสระในการตรวจสอบเรื่องนี้

การตรวจสอบข้อมูลด้านภาษีที่รั่วไหลครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากสำนักข่าวออนไลน์ที่มีชื่อว่าโปรพับลิกาของสหรัฐ เสนอข่าวเชิงลึกโดยอ้างอิงข้อมูลลับจากกรมสรรพากรสหรัฐ (ไออาร์เอส) ซึ่งระบุว่า บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดติดอันดับโลกบางคน รวมถึง เบโซส เจ้าของอเมซอน ,มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ,บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนผู้ใจบุญ,คาร์ล ไอคาห์น หนึ่งในเจ้าพ่อตลาดหุ้น, บลูมเบิร์ก นักธุรกิจพันล้านชื่อดัง และ จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน จ่ายภาษีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของสินทรัพย์ที่ครอบครอง แถมบางปีมหาเศรษฐีบางคนแทบไม่ได้จ่ายภาษีเลยด้วยซ้ำ

เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สื่อทั่วโลกนำเสนอข่าวว่า มัสก์ มีทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่ากว่า 1.85 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากราคาหุ้นของบริษัทเทสลาเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. จนทำให้เขาแซงหน้าเบโซส ก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกส่วนบริษัทเทสลาก็มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอย่าง โตโยต้า โฟล์คสวาเกน ฮุนได เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม)และฟอร์ดรวมกัน

ด้านเบโซส ซึ่งครองตำแหน่งผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2560 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการตลาดออนไลน์และบริการคลาวด์ โดยเฉพาะของอเมซอนดอทคอม เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ข้อมูลที่โปรพับลิกานำมาเผยแพร่ระบุด้วยว่า มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐ 25คนมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยรวม 401,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2557-2561 แต่มหาเศรษฐีพวกนี้กลับเสียภาษีทั้งหมดแค่ 13,600 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีตามที่ระบุ คิดเป็นการจ่ายภาษีในสัดส่วนแค่ 3.4% ของรายได้

ขณะที่ครัวเรือนชนชั้นกลางของสหรัฐในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ต่อปีประมาณ 70,000 ดอลลาร์ต้องเสียภาษีเงินได้ในสัดส่วน 14% ส่วนคู่สมรสมที่มีรายได้รวมกันมากกว่า 628,300 ดอลลาร์ต้องเสียภาษีในสัดส่วนที่สูงถึง 37%

เอกสารของโปรพับลิกา ยังระบุว่า ในขั้นตอนของการยื่นเอกสารเพื่อแจ้งการชำระภาษีแต่ละปีนั้น มหาเศรษฐีหลายคนไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ใช้วิธีเลี่ยงจ่ายภาษีที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังได้รับประโยชน์จากข้อกำหนดเรื่องรายได้ที่ต้องเสียภาษีในประมวลกฎหมายภาษีของสหรัฐที่ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น เช่น หุ้นและทรัพย์สิน และเรียกเก็บเพียงภาษีที่มาจากรายได้ของยอดขายสินค้าเท่านั้น

โปรพับลิการะบุว่า บัฟเฟตต์จ่ายภาษีแค่ 0.1% หรือ 23.7 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น 24,300 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2557-2561 ส่วนเบโซส จ่ายภาษีไม่ถึง 1% หรือ 973 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น 99,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีดังกล่าว แถมในปี 2550 หลักฐานที่มีอยู่ยังบ่งชี้ว่าเบโซสไม่ได้เสียภาษีเงินได้เลย ส่วนในปี 2554 ยังเลี่ยงจ่ายภาษีด้วย

ส่วนมัสก์เสียภาษีในสัดส่วน 3.27% หรือ 455 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13,900 ล้านดอลลาร์ และโซรอส ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้ในปี 2559 และ2561 เนื่องจากขาดทุนเพราะการลงทุน และไอคาห์น ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้ในปี 2559 และปี 2560 ทั้งๆ ที่มีรายได้ตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น 544 ล้านดอลลาร์

เอกสารด้านภาษีของเหล่าคนรวยในสหรัฐที่รั่วไหลออกมาครั้งนี้ มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากรัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม7 ประเทศ(จี7) รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปฏิรูประบบภาษีโลกให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทต่างๆ จะเสียภาษีอย่างถูกต้องในสถานที่ที่เหมาะสม โดยข้อตกลงนี้ครอบคลุมถึงการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% จากบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศนั้นๆ รวมถึงปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษี