'เอกชน' เมินยุบสภา แนะ 1 ปีที่เหลือเร่งฟื้นพิษโควิด

'เอกชน' เมินยุบสภา แนะ 1 ปีที่เหลือเร่งฟื้นพิษโควิด

ส.อ.ท.ไม่ห่วงเปลี่ยนแปลงการเมือง หวั่นเสถียรภาพเศรษฐกิจ แนะใน 1 ปี เร่งแก้โควิด เปิดประเทศ หอการค้า ชี้ช่วงเวลาที่เหลือขอรัฐบาลเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่กังวลเสถียรภาพทางการเมือง เอกชนกังวลเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าเยอะ เพราะการเมืองก็เป็นไปตามครรลองปกติ อยากให้การเมืองเข้ามาช่วยเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด 

โดยภายใน 1 ปี รัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องวัคซีนให้ทั่วถึง การเปิดประเทศ การกระตุ้นการบริโภคของประเทศ การแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ หรืออีส ออฟ ดูอิ่ง บิสซิเนส อำนวยความสะดวกสร้างความน่าเชื่อถือให้นักลงทุนเข้ามามากขึ้น รวมทั้งการเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เร็วที่สุดให้กลับมาแข็งแรงขึ้น และเร่งสานต่อโครงการบิ๊กโปรเจกต์ของภาครัฐดำเนินการต่อเนื่องไม่ให้สะดุด

ในส่วนของโครงการระยะยาวของรัฐบาล เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพราะใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องสานต่อ เพราะได้อนุมัติโครงการไปแล้ว และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์กับประเทศในระยะยาว แต่อาจจะมีการปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ แต่แกนหลังยังคงต้องเดินหน้าต่อ

ในช่วงเปลี่ยนแผ่นรัฐบาลก็ไม่น่าห่วง เพราะก็จะมีรัฐฐาลใหม่เข้ามาดูแลและรัฐบาลก็ได้เตรียมตัวอยู่แล้ว ซึ่งช่วงเลือกตั้งอาจทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคงไม่กระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพราะไม่ใช่การปฏิวัติ เป็นเพียงการปรับ ครม. ยุบสภา การเลือกตั้ง เป็นครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดงบประมาณฟื้นฟูประเทศตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทั้งการเพิ่มเม็ดเงินโครงการคนละครึ่งให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อไตรมาสที่ 2-3 โดยพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง 

"ภาคเอกชนหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไตรมาสที่ 3–4 เพราะเอสเอ็มอีมีสายป่านไม่ยาวมากนัก หากลากยาวไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2565 อาจจะสู้ต่อไปไม่ได้ กิจการจะแย่ลงและปิดมากขึ้น"