‘เดินทางอย่างยั่งยืน’ เทรนด์การเที่ยวที่ ‘โควิด-19’ มาส่งสัญญาณเตือน

‘เดินทางอย่างยั่งยืน’ เทรนด์การเที่ยวที่ ‘โควิด-19’ มาส่งสัญญาณเตือน

ผลจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” มีสถิติชี้ชัดว่าส่งเสริมให้เกิดความตั้งใจในการ “เดินทางอย่างยั่งยืน” กระตุกต่อมจิตสำนึกที่จะร่วมกันรักษาโลกนี้ไว้

ข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของนักเดินทางกว่า 29,000 คนใน 30 ประเทศ ที่ Booking.com รวบรวม ระบุว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 กระตุ้นให้นักเดินทางตระหนักที่จะเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวในวิถียั่งยืน

87 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยเชื่อว่าต้องลงมือทำทันทีเพื่อรักษาโลกนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยว่าผู้คนมุ่งมั่นที่จะเดินทางอย่างยั่งยืนด้วยความใส่ใจมากกว่าที่เคย โดย 78 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดเปลี่ยนให้พวกเขาต้องการเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต และ 66 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าการแพร่ระบาดได้เปลี่ยนทัศนคติให้พวกเขาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตประจำวัน อาทิ การรีไซเคิล (50 เปอร์เซ็นต์) และการลดขยะอาหาร (28 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ

จากผลการสำรวจในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนในแต่ละวันของนักเดินทาง สอดคล้องกับความตั้งใจที่จะออกท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในทริปต่อๆ ไป โดย 94 เปอร์เซ็นต์ ขอนักเดินทางชาวไทยต้องการลดปริมาณขยะทั่วไป ส่วน 91 เปอร์เซ็นต์ ตั้งใจลดการใช้พลังงาน (เช่น ปิดแอร์ และปิดไฟในห้องพักในเวลาที่ออกไปข้างนอก) และ 85 เปอร์เซ็นต์ ต้องการใช้ตัวเลือกในการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ แทนที่จะใช้แท็กซี่หรือรถเช่า

นอกจากนั้นนักเดินทางยังเคารพและให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นมาเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน เพราะในระหว่างการเดินทาง 85 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทย ต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างแท้จริง ส่วน 91 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการเร่งสร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรม และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในขณะที่ 85 เปอร์เซ็นต์ ต้องการมั่นใจว่าผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะถูกกระจายไปสู่คนทุกระดับในสังคม

162321361499

นอกจากนี้ 87 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวชาวไทย ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น ไปถึงขั้นเลี่ยงจุดหมายและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เพื่อให้มั่นใจว่าตนจะไม่มีส่วนทำให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้น และเพื่อช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ด้วยการช่วยในส่วนที่ตนเองทำได้อย่างการเดินทางไปยังจุดหมายและชุมชนที่มีผู้คนไปเยือนน้อย

เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ผลสำรวจเผยว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงความตั้งใจดีๆ ของนักเดินทางเท่านั้น เพราะมีความมุ่งมั่นมากมายที่กำลังบังเกิดผล โดยระหว่างการไปทริปท่องเที่ยวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาของนักเดินทาง ผลสำรวจข้อมูล พบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยต่างไม่ลืมปิดเครื่องปรับอากาศในที่พักตอนไม่ได้อยู่ในห้อง ส่วน 48 เปอร์เซ็นต์ พกขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ไปเอง แทนที่จะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดระหว่างออกทริป และ 51 เปอร์เซ็นต์ ได้ทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น และอันที่จริงแล้วนักเดินทางชาวไทยมากกว่าครึ่ง (66 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับว่า รู้สึกหงุดหงิดหากที่พักที่เลือกเข้าพักไม่เอื้อให้พวกเขาสร้างความยั่งยืน เช่น ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ หรือสิ่งของอำนวยความสะดวกที่รีไซเคิลได้

ในขณะเดียวกัน 98 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทย กล่าวว่า ต้องการเข้าพักในที่พักรักษ์โลกที่ยึดหลักความยั่งยืนในปีที่จะถึงนี้ และอันที่จริงแล้วจาก 14 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยที่กล่าวว่าเมื่อปีก่อนไม่ได้เข้าพักในที่พักรักษ์โลก มีนักเดินทาง 24 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มดังกล่าวระบุว่า พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีที่พักเช่นนี้อยู่ และ 47 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขาไม่พบตัวเลือกแบบนี้เลยในจุดหมายที่ไปมา และ 39 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าไม่รู้วิธีหาที่พักรักษ์โลกเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น 66 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยเชื่อว่าในปี 2564 ก็จะยังไม่มีตัวเลือกที่มากพอสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึงความตระหนักและความตั้งใจ ดูเหมือนว่านักเดินทางและที่พักจะเห็นด้วยไปในแนวทางเดียวกัน โดยการสำรวจข้อมูลครั้งใหม่ เผยว่าจากการสอบถามที่พักคู่ค้าของ Booking.com มีที่พักคู่ค้าถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อว่าความยั่งยืนในแวดวงการให้บริการนั้นมีความสำคัญ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ 94 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยที่เชื่อเช่นกันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่พักคู่ค้าจาก 3 ใน 4 ได้เริ่มนำขั้นตอนต่างๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อความยั่งยืนในที่พักแล้ว แต่มีเพียง 1 ใน 3 (31 เปอร์เซ็นต์) เท่านั้นที่ทำการสื่อสารเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของตน ไปยังลูกค้าที่มีแนวโน้มจะมาเป็นผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ให้บริการที่พักจะสื่อสารตอนที่นักเดินทางกำลังเช็คอินภายในที่พัก (59 เปอร์เซ็นต์) ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในเส้นทางสู่ความยั่งยืนดังกล่าว ว่าเหล่าผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวควรทำอย่างไร เพื่อให้นักเดินทางเข้าถึงข้อมูลด้านความยั่งยืนได้ง่ายดาย ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของกระบวนการจองที่พัก