อีเวนท์ ครึ่งปีอ่วม!  คอนเสิร์ต จ้างศิลปิน รายได้เป็นศูนย์

อีเวนท์ ครึ่งปีอ่วม!   คอนเสิร์ต จ้างศิลปิน รายได้เป็นศูนย์

6 เดือน อีเวนท์ ไม่มีงานให้จัด ผู้ประกอบการรายได้หดหาย หนักสุด อีเวนท์บันเทิง ทั้งโชว์บิส คอนเสิร์ต งานจ้างศิลปิน งานแสดงสินค้าฯ เม็ดเงินเป็น "ศูนย์" ธุรกิจลุ้นโค้งสุดท้าย โควิดคลายปม กลับมาจัดกิจกรรม ทำเงินต่อลมหายใจกิจการ

ธุรกิจอีเวนท์ที่เคยอู้ฟู่ มีการเติบโตดี แต่มูลค่าทางการตลาดจะอยู่ระดับหลักหมื่นล้านบาทแต่ในห่วงโซ่ใหญ่จะมีมูลค่าไปถึงหลักแสนล้านบาทท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ปลายปี ทำให้กิจกรรมใหญ่ที่ทุกคนรอคอยอย่างการเคาท์ดาวน์ ปี 2564” ต้องงดจัด ส่วนที่ยังจัดได้มีเพียงการจุดพลุ ประชาชดูผ่านหน้าจอจะทีวีหรือมือถือตามสะดวก

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสร้ายระลอก 3 มาเยือนและยังอยู่กับประเทศไทยลากยาวถึงครึ่งปีทำให้สถานการณ์ธุรกิจอีเวนท์ถูกปิดตายผู้ประกอบการขาดรายได้สาหัสสากรรจ์ขึ้น ส่วนการทยอยลงทะเบียนและฉีดวัคซีนเป็นความหวังที่ธุรกิจจะได้ลืมตาอ้าปากจัดงานได้อีกครั้ง

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟวิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากการทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วและครอบคลุม ส่งผลให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจอีเวนท์จะกลับมาจัดงานได้ อย่างอินเด็กซ์ฯ เตรียมจัดงานปลายเดือนกันยายนนี้ โมเดลของงานที่จะจัดเน้นโปรเจคตัวเองเป็นหลักมากกว่าพึ่งพิงงานจากลูกค้าภายนอก

ส่วนคอนเซปต์งานจะเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ดึงคนเข้าร่วมงานหลักพันถึงหมื่นคน ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ประเภทงานแสดงสินค้า การจัดคอนเสิร์ต อีเวนท์ด้านบันเทิงยังคงเสียหายหนักหน่วงเหมือนปีที่ผ่านมา การสร้างรายได้เป็นศูนย์เพราะกิจกรรมไม่สามารถจัดได้เลย และการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นช้าที่สุดด้วย

ภาพรวมธุรกิจอีเวนท์จะกลับไปยืนแตะระดับหมื่นล้านบาทอาจเห็นได้ปีหน้า แต่จะให้กลับไปอยู่ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นปี 2566 ดังนั้น การดำเนินธุรกิจจึงยังต้องระมัดระวัง เพราะในสถานการณ์โรคระบาด เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆอีกเมื่อใด หากจะต้องจัดอีเวนท์บริษัทจึงเลือกกิจกรรมที่ไม่มีการโต้ตอบ ปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อรักษากิจกรรม คนทำงาน และประเทศชาติ

สำหรับปีนี้ อินเด็กซ์ฯยังหวังจัดได้ 10 งาน ส่วนอีเวนท์ในต่างประเทศอย่างงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบยังคงจัดตามกำหนดการเดิม 1 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจที่เสียหาย แต่บริษัทปรับตัวต่อเนื่อง แตกไลน์ขยายธุรกิจใหม่ จึงคาดว่าจะยังสร้างได้เกินกว่า 50% โดยจะมีการทบทวนปรับประมาณการณ์รายได้อีกครั้งช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสลดลง 

ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจโชว์บิส การแสดงคอนเสิร์ต มีผู้สนับสนุน งานจ้างศิลปินไปแสดงตามร้านอาหาร ผับบาร์ต่างๆ สร้างรายได้ให้แกรมมี่หลักพันล้านบาท แต่ปีนี้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เลย จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมีรายได้หดตัวลง 6-10%

สำหรับปี 2563 บริษัทมีการจัดงานโชว์บิส คอนเสิร์ต 14 งาน ขายบัตรหมดเร็วเป็นประวัตการณ์ แต่ปีนี้เดิมจัด 16 งาน สถานการณ์จริงคาดว่าจะจัดได้ราว 8 งานเท่านั้น สร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน แต่ละปีมีคนดูคอนเสิร์ตประมาณ 6 แสนคน และแกรมมี่ฯ เป็นเจ้าตลาดครองส่วนแบ่งราว 4 แสนคน

โดยแนวทางการจัดคอนเสิร์ตจากนี้ไปจะสร้างแพลตฟอร์มงานให้แข็งแกร่งมากขึ้น เช่น บิ๊กเมาเท่า มิวสิค เฟสติวัล, เชียงใหญ่เฟสฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจขยายเจาะคนดูทุกภาคของไทย และเป็นเวทีให้ศิลปินทุกค่ายขึ้นเวทีได้ รวมถึงการวางกลยุทธ์ในการดึงคอนเสิร์ตจากต่างประเทศเข้ามาจัดในประเทศไทยด้วย โดยขนาดงานที่สร้างผลตอบแทนกำไรที่ดีจะต้องมีผู้ชมราว 5,000 คน

โชว์บิส การจ้างศิลปินไปแสดงตามร้านอาหาร สถาบันเทิงต่างๆ ทำเงินให้แกรมมี่ราว 1,200 ล้านบาทต่อปี เดิมไตรมาส 4 การจัดอีเวนท์เริ่มกลับมาจัดได้ แต่พอเจอโควิดระลอก 3 คอนเสิร์ต และโชว์บิส กลับมากระทบหนักสุดอีกครั้งเพราะรายได้หายไป 100%”