กรมชลฯวอนชาวนารอฝนชุก หลังเจ้าพระยาแล้งในฤดูฝน

กรมชลฯวอนชาวนารอฝนชุก หลังเจ้าพระยาแล้งในฤดูฝน

ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นช่วงแล้งในฤดูฝน หรือฝนตกทิ้งช่วง หลังจากที่ในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ไทยเข้าฤดูฝนตั้งแต่ วันที่ 15 พ.ค. เป็นต้นมา ดังนั้นแม้จะเป็นฤดูกาลทำนาปี แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอใช้น้ำฝนเป็นหลัก

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า  ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงฝนทิ้งช่วงในเขตภาคกลาง เขตลุ่มเจ้าพระยา  คาดว่าจะเริ่มมีฝนเข้ามาประมาณวันที่ 12-13 มิ.ย. นี้  โดยก่อนหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าฤดูฝน พบว่ามีพายุเข้ามาในประเทศไทยและมีฝนตกในบางพื้นที่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 5 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 3.75 ล้านไร่ จากที่กำหนดไว้ประมาณ  7.97 ล้านไร่

162315105085

ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักคือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อให้ข้าวในพื้นที่ดังกล่าวอยู่รอด  ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มทำนา กรมชลประทานขอความร่วมมือให้รอจนกว่าจะมีฝนตก ซึ่งตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. นี้เป็นต้นไป คาดว่าฝนจะตกอย่างต่อเนื่อง และเริ่มตกชุกในเดือน ส.ค.

“กรมชลประทาน ได้ประสานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ลงมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและประชาชนที่ช่วยกันลดการใช้น้ำในแม่น้ำสายหลัก คือแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา และลำน้ำสาขา เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การลำเลียงน้ำจากพื้นที่ทางตอนบนช่วยพื้นที่ตอนล่างอย่างเพียงพอ”

พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ประตูประบายน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ในเช้าวันนี้ (8 มิ.ย. 64) น้ำดังกล่าวเดินทางถึงบริเวณอำเภอบ้านหมี่ แล้ว และคาดว่าจะเดินทางถึงอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ในช่วงเย็น จะส่งผลให้การประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา และการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 24 แห่ง รวม 31 แห่ง มีน้ำเพียงพอที่จะผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ใช้อย่างไม่ขาดแคลน

  162316648319

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำแต่ละพื้นที่โดยจัดรอบเวรการใช้น้ำให้กับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว เพื่อไม่ให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกชุกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอ

อย่างไรก็ตามยังคงต้องเน้นให้ทำการเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักยังมีอยู่อย่างจำกัด รวมไปถึงการใช้น้ำท่าตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และขอให้ติดตามข่าวสถานการณ์น้ำจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมทั้งติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

สำหรับ การเพาะปลูกข้าวนาปีปี 2564  ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปี16.65 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 5.60 ล้านไร่คิดเป็น 33.60% ของแผนฯ  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปี7.97 ล้าน เพาะปลูกแล้ว 3.75 ล้านไร่ คิดเป็น 47.14% ของแผนฯ

162315111035

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และ ขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 34,843ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม. )  หรือ46% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้10,914ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% ของความจุน้ำใช้การ  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำ ใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของ น้ำใช้การ จำนวน 21 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงอุดมธารากิ่วคอหมาแควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง อุบลรัตน์ ลำปาว สิรินธร ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียวศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ ขุนด่านปราการชลคลองสียัด นฤบดินทร จินดา และแก่งกระจาน

ด้าน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วกว่า 3.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 45% ของพื้นที่  ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เพียงวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มีระดับต่ำไม่สามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำชัยนาท – ป่าสัก โดยแรงโน้มถ่วงได้

สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ขนาด 5 ลบ.ม. ต่อวินาที 4 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม. อีก 4 เครื่อง สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองส่งน้ำชัยนาท – ป่าสัก ที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์วันละประมาณ 1.5 ล้าน ลบ.ม. เริ่มสูบตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา และการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 24 แห่ง รวม 31 แห่ง ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. ให้เพียงพอ รวมไปถึงส่งไปช่วยเหลือไม้ผล  ไม้ยืนต้นด้วย

162315118091

นอกจากนี้ ยังได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างประหยัดรวมทั้งบริหารจัดการน้ำแบบรอบเวร ด้วยการกำหนดรอบเวร การใช้น้ำในคลองส่งน้ำชัยนาท – ป่าสัก เพื่อแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึง โดยกำหนดเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงต้นคลอง ระหว่างประตูน้ำมโนรมย์ – ประตูน้ำช่องแค (อ.มโนรมย์ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์)

 ช่วงกลาง ระหว่าง ประตูน้ำช่องแค – ประตูน้ำโคกกะเทียม (อ.บ้านหมี่ อ.เมือง จ.ลพบุรี) และช่วงปลาย คลองชัยนาท – ป่าสัก ระหว่าง ประตูน้ำเริงราง – แม่น้ำป่าสัก (อ.หนองโดน   อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี) และติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ปากคลองแยกซอย  เป็นเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8”, 10” และ 12” รวม 40 เครื่อง  เพื่อสูบน้ำจากคลองส่งน้ำชัยนาท – ป่าสัก ส่งให้กับพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กว่า 3 แสนไร่

พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกร การใช้น้ำจากคลองส่งน้ำชัยนาท – ป่าสัก ตามรอบเวรเพื่อแบ่งปันน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยประคับประคองข้าวนาปีที่ปลูกไปแล้วไม่ให้เกิดความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปา อีกทั้งยังได้ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้เลื่อนการเพาะปลูกออกไป รอให้มีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอในพื้นที่