ปูพรมฉีดวัคซีน เดิมพันประเทศ

ปูพรมฉีดวัคซีน เดิมพันประเทศ

หากประเทศไทยไม่ได้รับมอบวัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศได้ จะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ กระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ไม่สามารถขับเคลื่อนศรษฐกิจ และอาจต้องพึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินมารับมืออีกรอบ

ถึงแม้ภาครัฐจะดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 แต่เป็นการฉีดที่ยังไม่เต็มที่เพราะวัคซีนหลักที่จะใช้ฉีดให้คนไทย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ประเทศไทยสั่งซื้อเริ่มทยอยส่งมอบในเดือน มิ.ย.2564 และถ้านับรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันสามารถฉีดได้ 4.21 ล้านโดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 2.85 ล้านราย และเป็นการฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 1.36 ล้านราย ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่าการปูพรมฉีดนับจากนี้จะดำเนินการได้ตามแผน

สำหรับเงื่อนไขของการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนขึ้นกับหลายปัจจัย โดยในด้านความร่วมมือของบุคลากรและทรัพยากรในการฉีดวัคซีนนั้นมีหลายฝ่ายพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครหรือภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนสถานที่และปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านสถานที่รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อเตรียมจุดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งจะมีการขยายความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนดังกล่าวไปต่างจังหวัดด้วย

ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญของการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามแผนอยู่ที่การได้รับมอบวัคซีนตามกำหนด โดยถ้าพิจารณาจากความสามารถในการฉีดแบบปูพรมวันแรกในวันที่ 7 มิ.ย.2564 ทำให้เชื่อได้ว่าสามารถฉีดในปี 2564 ให้ได้ 50 ล้านคน หรือเท่ากับการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงได้ประสานกับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อให้ส่งมอบตามแผนให้ได้มากที่สุด เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศและดำเนินการฉีดให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันถึงการลงนามสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อนำเข้ามาเพิ่มเติมอีก 25 ล้านโดส รวมถึงการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเติมอีก 8 ล้านโดส เพื่อให้ได้วัคซีนครบตามจำนวน 100 ล้านโดส จากเดิมที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเคยระบุถึงการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนสปุตนิก ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ตามแผนทั้งเชิงปริมาณและระยะเวลาการส่งมอบ

หากประเทศไทยไม่ได้รับมอบวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศได้ เชื่อว่านอกจากความเสียหายจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือลดลงแล้ว ความเสียหายย่อมเกิดกับประเทศไทยที่จะไม่สามารถควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 ได้ รวมถึงไม่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญไม่สามารถสร้างภาวะสุขอนามัยที่ดีให้กับประชาชนได้ และท้ายที่สุดรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินมารับมืออีกรอบ