่ส่องสถานการณ์ 'ขยะพลาสติก' ช่วงการระบาด 'โควิด-19'

่ส่องสถานการณ์ 'ขยะพลาสติก' ช่วงการระบาด 'โควิด-19'

การระบาด 'โควิด-19' ซึ่งทุกคนต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ส่งผลให้ 'ขยะพลาสติก' เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการระบาดระลอกใหม่ ในกทม. 'ขยะพลาสติก' เพิ่มขึ้นกว่า 7.61% ในช่วงเมษายน 64

'ขยะพลาสติก' เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ มีการคาดการณ์ได้ว่าทั่วโลกภายในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ จะส่งผลทำให้มีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมากถึง 700 ล้านตัน โดยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง

  • 'โควิด-19' ระลอกใหม่ ทำ 'ขยะพลาสติก' กทม. เพิ่ม 7.61% 

วันนี้ (7 มิ.ย. 64) ดร.ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวในงานเสวนา เรื่อง 'ขยะพลาสติก' : การจัดการและโอกาส Post COVID-19 เนื่องใน 'วันสิ่งแวดล้อมโลก' ปี 2564 (5 มิถุนายน) หรือ World Environment Day โดยระบุว่า ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานคร ในภาพรวมลดลงจากปริมาณขยะสูงสุดในรอบ 30 ปี 10,700 ตันต่อวันเมื่อปี 2561 เหลือ 10,500 ตันต่อวัน ในปี 2562  ลดเหลือ 9,500 ตันต่อวัน ในปี 2563 และ ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2564 เหลือ 8,800 ตันต่อวัน 

ขณะที่ สัดส่วนของ 'ขยะพลาสติก' ในช่วงการแพร่ระบาด 'โควิด-19' เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ โดยสัดส่วน 'ขยะพลาสติก' เดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2564 กว่า 7.61%

หากมาดูจำนวนขยะต่อวัน จะพบว่า เมื่อมีการระบาด 'โควิด-19' ทำให้ต้องทำงานที่บ้าน ปริมาณ 'ขยะพลาสติก' เยอะขึ้นมากจากปกติ 15% เพิ่มขึ้นมา 25% ของขยะทั่วไปที่เก็บได้ต่อวัน (ขยะทั่วไปเก็บได้วันละประมาณ 9,000 ตันต่อวัน) 

ทั้งนี้ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี มีวิสัยทัศน์ กรุงเทพมหานครจัดการขยะด้วยแนวคิดเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยส่งเสริมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด และกำจัดขยะที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป้าหมายลดปริมาณขยะร้อยละ 20 และเพิ่มการนำขยะไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 จากปีฐาน 2556 ในปี 2575

  • ตั้งเป้าลดการฝังกลบ 80% 

การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการลดและคัดแยกขยะเพื่อใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้ง Recyclable Waste และ Organic Waste และการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และการใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มากที่สุด  ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถานศึกษา ภาครัฐ เอกชน และบริษัทมหาชนหลายแห่ง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะที่แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปริมาณขยะที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บไปกำจัด ขยะที่ต้องกำจัด กรุงเทพมหานครจัดรถเก็บขนมูลฝอยมากกว่า 1,500 คัน บริการจัดเก็บมูลฝอยทั่วไปซึ่งเหลือจากการคัดแยกที่ต้นทางแล้วนำไปกำจัดด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการเผาผลิตไฟฟ้า (Incinerator) เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) และเทคโนโลยีการหมัก (Composting) แทนการฝังกลบไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 จากปัจจุบัน ร้อยละ 29 ภายในปี 2570 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • New Normal ดันความต้องการ 'พลาสติก'

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค 'โควิด-19' ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายระลอก และมีการแพร่ระบาดไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดเป็นภาวะวิกฤต ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมุม จนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

วีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ความต้องการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมีเพิ่มสูงขึ้น และ 'พลาสติก' ก็จัดเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวในด้านของบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและเพื่อการขนส่ง รวมกระทั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงมีการอุปโภคกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อให้การใช้ 'พลาสติก' เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องเหมาะสม การทำความเข้าใจในตัวพลาสติกและคุณค่าที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

  • 'โควิด-19' อีคอมเมิร์ช - เดลิเวอร์ลี่  เติบโต 

ทั้งนี้ หากมองด้านเศรษฐกิจ จะเห็นว่า หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในการระบาด และมีบางส่วนที่มีการเติบโต มูลค่าของอีคอมเมิร์ช ที่ปกติจะเติบโตราว 11% แต่ในช่วงปี 2562 เติบโต 20% และในปี 2563 โตกว่า 34.7% ขณะที่การส่งอาหารเดลิเวอรี่ในปี 2563 เติบโตขึ้นถึง 78-84%  สิ่งที่สำคัญ มากคือ บรรจุภัณฑ์ด้าน 'พลาสติก' ในอดีต การเติบโตของบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ราว 1.5% แต่ช่วงปี 2563 สูงขึ้นเกือบ 9% จะเห็นว่า ความต้องการเกิดขึ้น 'พลาสติก' มีความสำคัญในอุตสหากรรมด้านอิคอมเมิร์ชและเดลิเวอลี่

ขณะที่ ด้านสังคมและสาธารณสุข ผู้คนต้องการความปลอดภัย เช่น เจลล้างมือ ถุงมือ ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจาก 'พลาสติก' รวมถึงการบรรจุอาหาร ส่วน อุปกรณ์การแพทย์ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะน้ำหนักเบา สะอาด และปลอดภัย การใช้งานได้หลากหลาย และผลิตจำนวนมากในเวลารวดเร็ว ชุด PPE จากพลาสติก หน้ากากอนามัย รองเท้าบูธ หลอดเข็มฉีดยา

"วันนี้คิกออฟด้านการฉีดวัคซีน เรามองว่าต้องฉีด 50 ล้านคน คนละ 2 โดส แสดงว่าเราต้องมีเข็ม 100 ล้านหลอดฉีดยา ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถผลิตได้เร็ว รวมถึงหน้ากากออกซิเจนต่างๆ อุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ 'พลาสติก' เข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะสถานการณ์ 'โควิด-19' ในปัจจุบัน"

  • สร้างความร่วมมือ คัดแยก 'พลาสติก' ต้นทาง

ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวต่อไปว่า ในด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการใช้ 'พลาสติก' มากขึ้น การเล็ดรอดจะมีมากขึ้นและการใช้วัสดุทดแทนก็มีมากขึ้นเช่นกัน ในประเทศไทยพยายามลดการนำเข้าเศษ 'พลาสติก' แต่ทำอย่างไรให้ 'ขยะพลาสติก' เข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ พยายามสื่อสารให้สังคมได้รับรู้มากที่สุด ทั้งการเก็บรวบรวม แยก ทำความสะอาด ทำให้เป็นเศษพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล และรณรงค์ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมคัดแยกตามชนิดต่างๆ

พร้อมกับ ร่วมมือกับผู้ประกอบการ ในการนำกลับ 'ขยะพลาสติก' มาทำสินค้าและส่งออก เน้นย้ำ การออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม หากทำตั้งแต่เริ่มต้นได้ การจัดการขยะแนวโน้มในอนาคตจะทำได้มากขึ้น และผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตระหนักว่า 'พลาสติก' มีคุณค่า ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมพลาสติกอยู่อย่างยั่งยืน

 

  • ลด ละ เลิก 'พลาสติก' ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ประธานโครงการ PPP Plastics กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งาน 'พลาสติก' ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้'พลาสติก'แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) และการนำหลักการ 'เศรษฐกิจหมุนเวียน' (Circular Economy) ตามวาระแห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการจัดการ 'ขยะพลาสติก' อย่างเป็นระบบและครบวงจร ก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างมูลค่าของของเสียเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการใช้ทรัพยากร อย่างคุ้มค่าและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

  • เร่งแก้ปัญหา 'ขยะพลาสติก' หลัง 'โควิด-19'

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก 'ขยะพลาสติก' จึงได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา 'ขยะพลาสติก' โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ โดยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565)

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์ 'โควิด-19' ภาครัฐได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ 'พลาสติก' เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จึงมุ่งเน้นในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวบรวม 'พลาสติก' นำกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมตามแนวคิด 'เศรษฐกิจหมุนเวียน' (Circular Economy) และในระยะต่อไปหากสถานการณ์ 'โควิด-19' เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมฯ จะได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา 'ขยะพลาสติก' แบบบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง ให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป