‘Brave Blue World’ สารคดีน้ำ...เพื่อโลกของเรา

‘Brave Blue World’ สารคดีน้ำ...เพื่อโลกของเรา

พื้นผิวโลก 2 ใน 3 ส่วนคือ “น้ำ” เป็นน้ำทะเล 97% ที่เหลือคือน้ำจืด เมื่อเผชิญภาวะโลกร้อน สถานการณ์ขาดแคลนน้ำก็ยิ่งรุนแรงขึ้น สารคดี “Brave Blue World” ไม่เพียงบอกว่าโลกขาดน้ำ หากชี้แนวทางว่าถ้าเราแก้ปัญหาได้ทัน คนบนโลกก็จะมีน้ำใช้อย่างพอเพียง

เพราะ คนเราใช้น้ำทิ้งไปถึง 95% ของปริมาณน้ำในโลก องค์กรสหประชาชาติ (UN) คาดว่า ปี 2040 คนส่วนใหญ่บนโลกจะไม่มีน้ำพอใช้ อีกไม่กี่ปีสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจะเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบอกว่า แม้ไม่เป็นสงคราม แต่เมื่อคนไม่มีน้ำใช้ก็จะอพยพย้ายถิ่นไปเรื่อย ๆ และทำให้พื้นที่เหล่านั้นขาดแคลนทรัพยากร

162292801045

เนื่องใน วันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน) เราชาวโลกพึงตระหนักว่า น้ำบนโลกเป็นทรัพยากรที่มนุษย์ทุกคนพึงเข้าถึง Brave Blue World พาไปพบกับนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ดาราฮอลลีวู้ด และคนตัวเล็ก ๆ ในหลายประเทศที่หาวิธีจัดการทรัพยากรน้ำ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่ก้าวหน้ากว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อให้คนบนโลกมีน้ำสะอาดใช้อย่างทันเวลา

162292802668

    Matt Damon ผู้ร่วมก่อตั้ง Water.Org

นักแสดงชาวอเมริกัน Matt Damon ผู้ร่วมก่อตั้ง Water.Org  เล่าว่า เขากระทบใจมากเมื่อครั้งไปประเทศแซมเบีย และพบเด็กหญิงอายุ 14 เดินเท้าถือกระป๋องไปตักน้ำที่ปั๊มบ่อบาดาลที่อยู่ห่างจากบ้านเธอ 1.6 กิโลเมตร เขากลับมาก่อตั้งองค์กรระดมทุนเพื่อให้ชาวบ้านกู้เงินสร้างบ่อน้ำ และมีเครื่องกรองน้ำไว้ที่บ้าน โครงการ Water.Org ปล่อยเงินกู้ 1.1 พันล้าน และได้เงินกู้กลับคืนมา 99% ดาราหนุ่มบอกว่า ที่น่าทึ่งคือแค่ผลักดันเพียงเล็กน้อย ชาวบ้านเขาก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองอย่างน่าภาคภูมิใจ

162292882171

    ชายชาวเคนยา คิด Blue Box เก็บสิ่งปฏิกูลตามบ้านนำไปประดิษฐ์เป็นถ่านคาร์บอนต่ำ

เคนยา ประเทศที่ยากจนที่สุด มีปัญหาสุขอนามัยมากที่สุด ชายชาวเคนยาคนหนึ่งหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยตั้งบริษัทบริการเก็บปฏิกูลเคลื่อนที่ ด้วยกล่อง Blue Box จากเมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีส้วมใช้ต้องใช้ส้วมรวม ซึ่งสกปรกมาก กล่องที่ว่านี้ทำให้ทุกบ้านมีสุขาส่วนตัวไม่ปะปนกับคนอื่น คนคิดจ้างคนท้องถิ่น 98 คน ขี่รถสามล้อไปเก็บตามบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จากนั้นนำไปฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงแดด แล้วนำผสมกับขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร เข้าเครื่องบำบัดปั่นออกมาเป็นก้อนกลม ๆ สีดำ นั่นคือ ถ่านคาร์บอนต่ำ ติดไฟได้นาน นำไปใช้ต่อได้และช่วยลดการตัดต้นไม้ 88 ต้น ต่อเดือน เป็นโมเดลธุรกิจที่รัฐบาลเริ่มสนใจ

162292812784

   น้ำในอากาศมีมากกว่าน้ำในแม่น้ำ 6 เท่า

หญิงชาวเคนยาอีกคนคิด เครื่องเก็บน้ำจากอากาศ แรงบันดาลใจมาจากแมลงปีกแข็งในนามีเบีย ท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้งแต่เจ้าแมลงปีกแข็งก็ดื่มน้ำจากอากาศได้ แสดงว่าน้ำมีอยู่ทุกที่ เธอจึงประดิษฐ์เครื่องเก็บน้ำ เรียกว่า Majik Water ที่ดูดอากาศเข้าไปผ่านคอยล์ความร้อน ทำให้เกิดการควบแน่น กลายเป็นน้ำแล้วส่งต่อไปยังถังเก็บ จากนั้นกรองออกมาเป็นน้ำที่ดื่มได้ เธอบอกว่า ตราบใดที่มีอากาศ ที่นั่นก็มีน้ำ

162292890330

     เครื่องเก็บอากาศมาทำน้ำ Majik Water

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า น้ำจากอากาศมีมากกว่าน้ำในแม่น้ำถึง 6 เท่า เราก็แค่อาศัยปัญญา บวกเทคโนโลยี ใน ชิคาโก้ ประเทศที่พัฒนาแล้ว คนใช้น้ำเสียวันละ 750 ล้านแกลลอน นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในน้ำมีฟอสฟอรัส ที่ถ้ามีมากเกินไปก็เป็นสารมลพิษ ทำให้สาหร่ายและพืชน้ำเติบโตเร็ว อุดกั้นทางไหลของน้ำ แต่ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบสำคัญของพืชและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ขาดไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์บอกอีกว่า ภายในปี 2035 โลกอาจเกิดภาวะขาดแคลน ฟอสฟอรัส พวกเขาจึงคิดว่าถ้าเอาฟอสฟอรัสส่วนเกินที่มีอยู่ในน้ำออกมาใช้ประโยชน์น่าจะทำได้ ดังนั้นจึงใช้วิธีการดึงฟอสฟอรัสออกมา นำไปผ่านความร้อนเกิดปฏิกิริยาเคมี จากนั้นเติมแมกนีเซียมคลอไรด์นิดหน่อยก็จะได้ผลิตภัณฑ์ฟอสฟอรัส (เป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาวเหมือนปุ๋ย) ซึ่งก็คือปุ๋ยชั้นดี ขายได้เงินเป็นกอบเป็นกำ

162292897810

    นักวิทยาศาสตร์แยกฟอสฟอรัสออกจากน้ำ

คำตอบของนักคิดนักวิทยาศาสตร์ยุคนี้คือ ไม่มีอะไรดีไปกว่าสามารถเปลี่ยนของเสียให้เป็นทรัพยากร ผู้รู้เรื่องน้ำบอกอีกว่า ในน้ำเสียมีพลังงานมากกว่าพลังงานที่ต้องนำไปใช้ในการบำบัดถึง 2 เท่า แล้วทำไมเราจะสิ้นเปลืองพลังงานเพื่อใช้บำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีล่ะ...เราก็แค่อาศัยความรู้ นำของเสีย (จากน้ำเสีย) มาปรับปรุงใหม่ บรรดาน้ำเสียที่ไหลผ่านท่อนั้นเป็นของฟรี แล้วต้องไปเสียเงินมากมายทำไมเพื่อทำลายมัน

ดังนั้นนักคิดจาก อันดาลูเซีย ประเทศสเปน จึงคิดเพาะสาหร่ายขึ้น แล้วเลี้ยงในอ่างไว้ 3 วัน ให้มันดูดอาหารจากน้ำเสียที่ปล่อยลงบ่อ จากนั้นใช้วิธีการแยกสาหร่ายออกมาไปทำก๊าซชีวภาพ นักคิดคนนี้เรียกว่า “จากส้วมสู่แทงค์” สาหร่ายยังช่วยบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำใสอีกด้วย วิธีนี้ทำให้ชาวอันดาลูเซียใช้ก๊าซชีวภาพจากสาหร่ายแทนน้ำมันในรถยนต์ วิ่งฉิวกันไป 30 ล้านคัน

162292906086

    นักประดิษฐ์จากสเปน เพาะสาหร่ายโดยให้กินอาหารจากน้ำเสียแล้วนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ

ทุกวันนี้หลายประเทศ ใช้ เทคโนโลยีเมมเบรน โดยเติมโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่า “อควาโพรติน” เพียงเล็กน้อยแล้วสามารถทำให้น้ำเสียเป็นน้ำดี เป็นการรีไซเคิลน้ำอย่างเต็มรูปแบบ และใช้เทคโนโลยีนี้ในการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดได้ด้วย ในสิงคโปร์ก็ใช้เมมเบรน เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดซึ่งลดต้นทุนจากเทคโนโลยียุคก่อนไปถึง 90%

162292912388

บริษัท ลอรีอัล ในเม็กซิโก ซิตี้ มุ่งหน้ารีไซเคิลน้ำเสียเปลี่ยนเป็นน้ำดี สร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำ 12 แห่ง และโรงงานแห้ง ที่รีไซเคิลน้ำประปาได้ 100% จึงเท่ากับไม่ต้องใช้น้ำประปาแล้ว น้ำใช้แล้วนำกลับมาบำบัดแล้วรีไซเคิลได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

  162292913773

    น้ำเสียเปลี่ยนเป็นทรัพยากรได้และสามารถรีไซเคิลได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

โลกเราเป็นสีน้ำเงินเพราะมีผืนน้ำ 3 ส่วน ผืนดิน 1 ส่วน ถ้าเราเคยคิดว่าน้ำจืดมีไม่พอใช้ก็ต้องคิดใหม่และทำใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ต้องทันการ และผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้ลงมือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเขาไม่ทำเราก็ต้องเรียกร้องและรณรงค์ในทุกวิถีทาง รวมถึงสนับสนุนองค์กรดี ๆ ที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม

เพราะโลกกำลังป่วยหนัก ตอนนี้ไม่มีแผนสำรองแล้ว ทุกคนต้องลงมือทำ !

สารคดี Brave Blue World (2020) ความยาว 50 นาที

อำนวยการสร้าง : Paul O’Callaghan (ผู้ก่อตั้ง Blue Tech Research)

กำกับ : Tim Neeves

นักแสดง : Matt Damon, Jaden Smith

บรรยาย : Liam Neeson

เผยแพร่ : Netflix