‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.22บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.22บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าหลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และจับตาแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีนวันละ3แสนโดส คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.30บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.22 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ (วันที่ 2 มิ..) มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าลงตามเงินดอลลาร์ที่รีบาวด์กลับขึ้นมา และอาจผันผวนหนักตามทิศทางเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นกับว่า รายงานข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในฝั่งสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls: NFP) จะออกมาแบบไหน

โดยเรามองว่า หาก NFP ออกมาดีเกินคาดไปมาก อาทิ 9 แสนตำแหน่ง หรือ มากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง อาจทำให้ตลาดกังวลว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อาจกดดันให้ เฟดลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วขึ้น ทำให้ เงินดอลลาร์อาจผันผวนแข็งค่าขึ้นได้

แต่ทว่า หาก NFP ออกมาแย่กว่าคาดมาก เช่น ใกล้เคียงกับระดับเดือนก่อนที่ 3 แสนราย ก็อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดได้ เพราะปัญหาการจ้างงานอาจทำให้เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัวขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็สามารถทำให้ตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงได้เช่นกัน แต่อาจไม่รุนแรงเท่ากรณีที่ NFP ดีกว่าคาดไปมาก เพราะผู้เล่นในตลาดอาจไม่กังวลมากในประเด็นเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หากบรรดาเจ้าหน้าเฟด ยังคงยืนกรานว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวแค่ชั่วคราว

อย่างไรก็ดี เราไม่คิดว่า เงินบาทจะอ่อนค่าไปมาก เพราะยังมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่า อาทิ ฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิมากขึ้น

โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้นต้องจับตาแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีน เพราะหากมีการแจกจ่ายวัคซีนที่ดีต่อเนื่อง (ใกล้เคียงอัตรา วันละ 3แสนโดส) ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ กลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น และหนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาส 3 นอกจากนี้ ฝั่งผู้ส่งออก ก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวและลดความเสี่ยงด้วยการทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์หลังทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง 1.03% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดลบ 0.36% ท่ามกลางความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงโอกาสที่เฟดอาจปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอี  หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ ล้วนออกมาดีกว่าคาด

อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อฝ่ายการบริการโดย ISM (Non-Manufacturing PMI) เดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 64 จุด ขณะเดียวกัน ยอดการจ้างงานนอกภาคเอกชนโดย ADP ก็เพิ่มขึ้นกว่า9.8 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 6.5 แสนตำแหน่ง และอาจสะท้อนว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payroll) ที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยนั้น อาจออกมาดีเช่นกัน

ทั้งนี้ แรงกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ยังได้ส่งผลให้ในฝั่งยุโรป นักลงทุนกลับมาปิดรับความเสี่ยง ทำให้ดัชนี STOXX50 ปิดลบราว 0.23%  นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen -3.17%, Amadeus -1.31%, ASML -1.03% ขณะที่ ดัชนียังมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Cyclical อาทิ BMW +3.93%, Daimler +1.76%, Allianz +1.06% และ Santander +0.89% เป็นต้น

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงความกังวลว่าเฟดอาจลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วขึ้น หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่างออกมาดีเกินคาด ได้กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ลดสถานะถือครองบอนด์สหรัฐฯ 10ปีลง กดดันให้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 2bps สู่ระดับ 1.62%

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน การปรับตัวขึ้นของยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และความต้องการหลุมหลบภัยในช่วงตลาดผันผวนได้หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 90.51 จุด ส่งผลให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.213%  ส่วนเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลง ใกล้ระดับ 110.26 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ (GBP) สู่ระดับ1.411 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังอังกฤษเจอการระบาดของ โควิด-19 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็ได้กลับมากดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาทองคำ ที่เจอสองปัจจัยลบอย่าง เงินดอลลาร์แข็งค่าและบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น ทำให้ ราคาทองคำปรับตัวลงกว่า 1.4% สู่ระดับ 1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์