“3 ป.” ฟาดกลับภูมิใจไทย กระสุนตก “อนุทิน”

 “3 ป.” ฟาดกลับภูมิใจไทย กระสุนตก “อนุทิน”

“อนุทิน” จึงกลายเป็นตำบลกระสุนตก ทั้งที่ตัวเองก็คุมสถานการณ์ในพรรคไม่ได้ สั่งใครในพรรคก็ไม่ได้ เพราะเก้าอี้หัวหน้าพรรค ที่นั่งอยู่ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ผู้มีอำนาจในภูมิใจไทยตัวจริง”

สถานการณ์ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” เขม็งเกลียวอย่างหนัก โฟกัสหลักมุ่งไปที่ “3 ป.” กับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีเรื่องระหองระแหงหลายกรณี แต่ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก อาทิ การต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว การล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ เป็นต้น แต่วิกฤติหนักอยู่ที่ปมบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ริบอำนาจมาบริหารจัดการเองทั้งหมด

อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เหลือหน้าที่เพียงลำเลียงวัคซีนไปส่งยังพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น

ปมริบอำนาจทำให้ “ลูกพรรคภูมิใจไทย” ไม่พอใจ ดาหน้าออกมาถล่มนายกฯ ประยุทธ์ ทุกช็อตที่มีโอกาส โดยเฉพาะในเวทีซักฟอกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 กระทั่งนายกฯ ต้องออกปาก พูดตรงๆ ใน ครม.กับ “อนุทิน” ขอให้ปรามลูกพรรคที่ออกมาอัดรัฐบาลด้วยกันเอง

แต่ ส.ส.ภูมิใจไทย กลับไม่ลดราวาศอก ตลอด 3 วันการอภิปรายยังกระทบกระทั่งนายกฯต่อเนื่อง

ที่พีคสุด คือการสรุปประเด็นของรุ่นใหญ่สายตรงบุรีรัมย์อย่าง “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอข้อคิดเห็นในนามพรรค ให้นายกฯ ไปพิจารณาถึงหลักการบริหารในยุคที่ไม่ใช่รัฐบาล คสช.ที่ใช้กลไกข้าราชการ บริหารรูปแบบรัฐราชการ

"แต่สถานภาพวันนี้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่ภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล สิ่งที่นายกฯต้องคำนึงคือการให้เกียรติกันเพื่อร่วมกันทำงาน และต้องปรับแนวคิดใหม่"

ทำให้นายกฯ ซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมสภาฯ อดรนทนไม่ไหว ได้ลุกขึ้นชี้แจงทันที

ปรากฎการณ์เช่นนี้ ถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อย กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลทำหน้าที่ซักฟอกกันเอง แต่เนื่องจากผู้นำพรรคภูมิใจไทยตัวจริงไม่ได้ชื่อ “อนุทิน” จึงไม่แปลกที่แม้ “อนุทิน” จะรับปากนายกฯ แต่ผู้มีบารมีเหนือพรรคกลับไม่ส่งสัญญาณให้ลูกพรรคถอยฉาก

เมื่อโดนรุมถล่มไม่เลิก นายกฯ ประยุทธ์จึงไม่มีทางเลือก เมื่อจัดการทางตรง-บนดินไม่ได้ ว่ากันว่า ทีมสนับสนุนก็มีวิธี “ใต้ดิน” เช่นกัน

ปฏิบัติการตอบโต้เริ่มเปิดฉากด้วยกระแสเขี่ย “อนุทิน-ภูมิใจไทย” พ้นพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มถูกกระจายออกมา มิหนำซ้ำยังมีประเด็นแถมมาด้วย คือการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจาก “อนุทิน” พร้อมทั้งมีโผชื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ที่กำลังหาเสียงล่วงหน้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. จะมาเสียบแทน

ทว่ากรณีที่มีชื่อ “จักรทิพย์” จะมานำพรรคภูมิใจไทย(หรือไม่) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยพูดคุยกันในพรรคภูมิใจไทยมาตั้งแต่สมัยคนกันเองอย่าง “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าของอาณาจักรคิงเพาเวอร์ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่สุดดิวนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

เนื่องจาก “จักรทิพย์” ไม่ใช่คนที่จะรับคำสั่งคนระดับเพื่อน แต่สถานะของ “จักรทิพย์” กับพี่ใหญ่ภูมิใจไทย อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” คือคนกันเองได้ ที่สุดแล้วก็จบลงที่ “อนุทิน” ผู้พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งผู้มีบารมีนอกพรรคได้ทุกประการ

มาดูเกมแค้นเอาคืน ด้วยการเขย่าโควตา ครม.ล่าสุดการข่าวระบุว่า 3 ป.กำลังเล็งยึดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดึงกลับมาแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาจต้องเขย่าเก้าอี้ ปรับสูตร ครม.กันใหม่

ในมุมนี้ ก็ใช่ว่า จะเป็นไปไม่ได้ หากอ่านเกม 3 ป. ย่อมต้องพยายามกู้วิฤติขาลงจากสถานการณ์โควิด และแนวทางการยึดเอา กระทรวงสาธารณสุขกลับมาบริหารเอง คุมเองเบ็ดเสร็จ ก็ถือเป็นความท้าทาย เพราะหากแก้ปัญหาระบาด และเคลียร์เรื่องวัคซีนได้ ก็สามารถทำแต้มการเมืองได้ไม่ยาก

การข่าวยังระบุด้วยว่า กระแสถล่มรัฐบาลที่เกิดขึ้น “พี่น้อง 3 ป.” โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่พอใจอย่างหนัก และ 3 ป. ก็รู้ดีว่าใครอยู่หลังฉากเกมป่วน ดิสเครดิตนายกฯ น้องเล็กแห่ง 3 ป. ในเวลานี้ และมีเป้าหมายต่อรองเรื่องใด ซึ่งไม่ใช่กรณีงบฯ 65 และกระจายวัคซีนเท่านั้น

ทั้งที่ ไม่นานมานี้ ระหว่างเจ้าของพรรคภูมิใจไทย และหัวหน้ารัฐบาล ก็เพิ่งมีข้อตกลงขอไม่ให้ขยับเก้าอี้ รมว.คมนาคม ของศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาฯ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นเพียงเงื่อนไขเดียว ดังนั้น “อนุทิน” จึงตกเป็นเป้าหมายอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในมุมของภูมิใจไทย สำหรับผู้มีบารมีเหนือพรรคไม่เดือดร้อนหากมีเขย่าเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขกันใหม่ เพราะทุกวันนี้ความรู้สึกของลูกพรรค ก็มองว่าโควตาของภูมิใจไทย 2 ตำแหน่ง ทั้ง “อนุทิน” และ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม แทบไม่ได้มีผลงานปรากฎ และไม่ได้ต่อสู้ทางการเมืองให้เป็นประโยชน์กับลูกพรรคอย่างที่ควร

ประเด็นที่ลูกพรรคหวังให้ “อนุทิน” ผลักดันให้เป็นรูปธรรมหลายอย่างกลับต้องผิดหวัง โดยเฉพาะการวาง “อสม.” เป็นฐานเสียง เพื่อช่วยทำคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลับกลายเป็นเครดิตของ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จากค่ายประชาธิปัตย์ มากกว่า แม้กระทั่งการกระจายวัคซีนที่โกยคะแนนไปได้ไม่น้อย

การมี “อนุทิน” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นประโยชน์กับเจ้าของพรรคภูมิใจไทยตัวจริงมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกพรรค

ฉะนั้นหากจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้อง 3 ป. กับเจ้าของพรรคตัวจริง จะเคลียร์กันได้หรือไม่

หากเดาใจพี่ใหญ่ “เนวิน” ก็เชื่อว่าคงคำนวณแล้วว่า โควตา “รมว.คมนาคม” และการได้อยู่ร่วมรัฐบาล สำคัญกว่าโควตา “รมว.สาธารณสุข”

“อนุทิน” จึงกลายเป็นตำบลกระสุนตก ทั้งที่ตัวเองก็คุมสถานการณ์ในพรรคไม่ได้ สั่งใครในพรรคก็ไม่ได้ เพราะเก้าอี้หัวหน้าพรรค ที่นั่งอยู่ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ผู้มีอำนาจในภูมิใจไทยตัวจริง”