'กลุ่มปตท.' วางเป้าผลิตไฟฟ้า โตเพิ่ม 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี

'กลุ่มปตท.' วางเป้าผลิตไฟฟ้า โตเพิ่ม 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี

กลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าปีละ 1,000 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องถึงปี 2573 หนุนเชื้อเพลิงคอนเวนชั่นนอลและพลังงานหมุนเวียน แตะอย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ เสริมรายได้ธุรกิจพลังงานใหม่ สัดส่วน 10% ของพอร์ตฟอลิโอ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ,น้ำมัน และถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตในมืออย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

162262689986

โดยบริษัทลูก คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC ยังคงเป็นแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ที่จะขยายการเติบโตในธุรกิจไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ปตท.ยังเข้าไปลงทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท.และ GPSC ถือหุ้นสัดส่วน 50:50 เพื่อให้ GRP มีกำลังที่จะเข้าไปแข่งขันธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

162262686556

อีกทั้ง ปตท.ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทในเครือที่จะมองหาโอกาสเข้ามาลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าด้วย เช่น การที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีแผนจะลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) หรือ โครงการ Gas to Power ซึ่งจะร่วมมือกับ GPSC ต่อยอดฐานการลงทุนเดิม เช่น ในเมียนมา และเวียดนาม ของ ปตท.สผ. ในการเข้าไปลงทุนธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่อยู่แล้ว เป็นต้น แต่เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้าไม่ใช่ธุรกิจหลักของ ปตท.สผ. ทำให้ทาง ปตท.สผ.วางกลยุทธ์ลงทุนโดยตั้งเป้าหมายจะมีกำไรจากธุรกิจใหม่ สัดส่วนประมาณ 20% ของพอร์ตฟอลิโอ ในช่วง 10 ปี หรือ ภายในปี 2573 เท่านั้น

162262683058

กลุ่ม ปตท.ก็ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 เมกะวัตต์ ไปจนถึงปี 2573 ตอนนี้ก็มีดีลกันอยู่หลายดีล ไม่ง่าย โดยในส่วนของธุรกิจ New Energy และ New Business ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนรายได้อย่างละ 10% ของพอร์ตฟอลิโอในปี 2573 และไม่ได้หมายความว่า ในส่วนของธุรกิจหลักจะเติบโตลดลง แต่พอร์ตของปตท.จะใหญ่ขึ้น และโตมากขึ้น”

ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) อยู่ที่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 500 เมกะวัตต์

162262679533

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่แหล่งเยตากุน ในเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติและมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯให้กับประเทศไทย จะหยุดจ่ายก๊าซฯเร็วกว่าสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เพราะสามารถจัดหาก๊าซฯจากแหล่งอื่นๆได้ เช่น อ่าวไทย รวมถึงยังสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาทดแทนได้ และการที่แหล่งเยตากุน หยุดจ่ายก๊าซฯเร็วกว่าสัญญาซื้อขายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามสภาพธรรมชาติของแต่ละแหล่งก๊าซฯ

นอกจากนี้ ในส่วนของความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ของ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ ก็อยู่ระหว่างการหารือกับทางกลุ่มเชฟรอนฯ และกระทรวงพลังงาน ซึ่งก็จะต้องพยายามเข้าพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด 

ก่อนหน้านี้ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี (ในกลุ่ม ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ แปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ระบุว่า ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ตามแผน และกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯขั้นต่ำ ที่กำหนดไว้ อยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา PSC ซึ่งเบื้องต้น ประเมินว่า การเข้าพื้นที่ล่าช้า จะส่งผลให้กำลังผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณ หายไปประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดังนั้น ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท. เพื่อจัดทำแผนรองรับปัญหาดังกล่าว โดยเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย คือ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ขึ้นมาทดแทนปริมาณ 80% ของกำลังการผลิตก๊าซฯที่หายไป และส่วนที่เหลืออีก 20% อาจเป็นการจัดหาและนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาทดแทน