สธ.เผยจัดส่งวัคซีนโควิด-19ก่อน7มิ.ย.ราว 2 ล้านโดส

สธ.เผยจัดส่งวัคซีนโควิด-19ก่อน7มิ.ย.ราว 2 ล้านโดส

สธ.เผยสัปดาห์นี้จัดส่งวัคซีนให้จังหวัดราว 2 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 1.24 ล้าน ซิโนแวค 7 แสนโดส ก่อนทยอยส่งต่อเนื่องเป็นงวดๆ มิ.ย.รวม 5-6ล้านโดส คาดเฉพาะวันที่ 7 มิ.ย.ทั่วประเทศฉีดได้กว่า 5 แสนโดส ส่วนกทม.ใน 2 สัปดาห์ได้รับรวม 5 แสนโดส

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ในการบรรยายสรุปสำหรับนักข่าวไทย เรื่อง "การกระจายวัคซีนในประเทศไทย" ผ่านระบบ ZOOM นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้จะเป็นวันที่เริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งลักษณะการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย. จะทำให้เห็นว่าการเข้าถึงการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง คาดว่าทั่วประเทศจะมีหลายแสนคน และมีระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์าจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็ได้ โดยขณะนี้ทุกโรงพยาบาลทยอยได้รับวัคซีนเพื่อเตรียมการแล้ว และจะคิกออฟพร้อมกันในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ โดยการกระจายวัคซีน จะส่งเป็นงวดๆ เพราะคร.ได้รับส่งมอบวัคซีนจาดผู้ผลิตเป็น 4 งวดในเดือนมิ.ย.นี้ โดยในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วันที่ 1-2 มิ.ย.ได้จัดส่งแล้ว 240,000 โดส และช่วงท้ายสัปดาห์อีกกว่า 1 ล้านโดส และวันที่ 3 มิ.ย.จะมีการจัดส่งซิโนแวคอีก 7 แสนโดส ดังนั้น ในสัปดาห์นี้จะมีการจัดส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆราว 2 ล้านโดส จากนั้นกลางเดือนมิ.ย.จะได้รับส่งมอบวัคซีนเพิ่มก็จะทยอยจัดส่ง คาดว่าในเดือนมิ.ย.จะทยอยส่งวัคซีนให้รพ.ต่างๆได้ 5-6 ล้านโดส ทั้งนี้ศักยภาพการฉีดทั้งในรพ.และจุดฉีดนอกรพ.อยู่ที่ 5 แสน-1ล้านโดสต่อวัน หรือประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส หลายจังหวัดฉีดได้วันละเป็นหมื่น จึงคาดว่าเฉพาะวันที่ 7 มิ.ย.น่าจะฉีดได้มากกว่า 5 แสนโดส

2สัปดาห์กทม.รับ 5 แสนโดส

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การจัดสรรวัคซีนจะพิจารณาจากการบรรลุวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1.ประโยชน์ในการป้องกันโรคที่รุนแรงสำหรับบุคคลและ2.สร้างภูมิคุ้มกันฝนประชากรพื้นที่ระบาด เพราะฉะนั้น พื้นที่ระบาดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนสูงกว่าพื้นที่อื่น เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่อื่นๅที่ยังไม่มีการระบาดด้วน เพราะคนจากพื้นที่ระบาดจะเดินทางกลับไปในพื้นที่ไม่ระบาด ดังนั้น จังหวัดอื่นที่ไม่ระบาดและไกลออกไปก็จะได้รับจัดสรรน้อยกว่า แต่จะได้รับการจัดสรรครบทุกคนใน 4-6เดือนข้างหน้าแน่นอน โดยจะเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ทั้งนี้ กทม.จะได้รับการส่งมอบวัคซีนมากกว่าพื้นที่อื่นทั้งด้วยจำนวนประชากรที่มากและการเป็นพื้นที่ระบาด จะได้ทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคใน 2 สัปดาห์ ประมาณ 5 แสนกว่าโดส


" ผู้ที่จองคิวรับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมนั้น ในวันที่ 7 มิ.ย.จะได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก แต่ขึ้นกับการพิจารณาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย"นพ.โสภณกล่าว

ต่างชาติเริ่มลงทะเบียน 7 มิ.ย.
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า สำหนรับแผนการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มคณะทูต และครอบครัว เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ(ยูเอ็น) ที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และฉีดใน รพ.ที่กำหนด เบื้องต้นมี 3 แห่ง และจะเพิ่มเติมมากขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับชาวต่างชาติทั่วไป ก็จะเริ่มลงทะเบียนเพื่อฉีดได้เช่นเดียวกับคนไทยในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ โดยจะเริ่มใน 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ในเว็บไซต์ www.thailandIntervac.com

162262581722


จัดหาวัคซีนไฟเซอร์-จอห์นสันฯเพิ่ม 25 ล้านโดส
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีข่าวฟิลิปปินส์ที่ระบุว่า อาจได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ล่าช้า ว่า อาจเข้าใจผิด หากได้รับช้าน่าจะจากแอสตร้าฯ ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของบริษัทแอสตร้าฯ กับประเทศนั้นๆ ตอบแทนไม่ได้ แต่ในส่วนของประเทศไทย ได้รับการส่งมอบและกระจายวัคซีนแล้ว ซึ่งการผลิตและกระจายวัคซีนตอนนี้ เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตไม่ได้มีวัคซีนในคลัง แต่เป็นการผลิตไปและส่งมอบไป ซึ่งกระบวนการผลิตวัคซีนมีรายละเอียดมากต้องตรวจสอบคุณภาพครบถ้วน เพราะฉะนั้น หากต้องใช้เวลานานขึ้นก็เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงของไทยกับบริษัทแอสตร้าฯนั้น ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นวัคซีนจากแหล่งผลิตในไทยเท่านั้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่น โดยขึ้นกับบริษัทแอสตร้าฯบริหารจัดการ และไม่ได้ห้ามการส่งออก
แต่การส่งออกจะอยู่บนการปรึกษาหารือร่วมกัน เพราะความต้องการวัคซีนจะมีมากขึ้น จึงต้องเข้าใจสถานการณ์


นพ.นคร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนอื่นๆ ว่า สำหรับนโยบายเตรียมการวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในปี 2564 โดยขณะนี้จัดหา 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า โดยแอสตราทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ ส่วนซิโนแวค ทำสัญญาเรียบร้อยแล้วจัดหา 10-15 ล้านโดส และได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน 1 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือทยอยส่งมอบเดือนละ 3 ล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป ขณะที่ วัคซีนไฟเซอร์ อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 20 ล้านโดส คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไข ในสัญญาจัดหา 5 ล้านโดส คาดว่าภายในไตรมาส 3-4 ของปี 2564 ซึ่งจำนวนการจัดหาทั้งของไฟเซอร์และจอห์นสันฯนั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่ไทยกำหนดแต่เป็นจำนวนสูงสุดที่บริษัทระบุว่าจะสามารถจัดหาให้ได้ในปี 2564 นอกนั้นวัคซีนอื่นๆก็อยู่ระหว่างดำเนินการ

เตรียมงบฯชดเชยเบื้องต้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19นอกรพ. และ เตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้นในส่วนอาการไม่พึงประสงค์ โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบ คือ หากฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องมาที่สปสช.อาจจะผ่านทางสถานพยาบาบที่ไปรับวัคซีนส่งเรื่องให้ จะมีคณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 5 วัน จะเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาฉีดทุกคน

" ตั้งแต่เปิดเรื่องให้ยื่นชดเชยมา 2 สัปดาห์ มียื่นเรื่องมาแล้ว 250 ราย และมีการชดเชยไปแล้ว 150 ราย โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่ให้การชดเชยส่วนใหญ่เป็นกรณีนอนรพ. และเกิน 50 รายมีอาการชา นอกนั้นก็จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียจนต้องนอนพัก รพ. ก็มีการชดเชยไป"นพ.จเด็จกล่าว

WHOย้ำอย่านำ%ประสิทธิผลวัคซีนมาเทียบกัน

ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) กล่าวว่า ปัจจุบันมี 211 ประเทศมีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 1,870 ล้านโดส และในโครงการโคแว็กซ์ (Covax)ส่งไปแล้ว 77.7 ล้านโดสใน 127 ประเทศ โดยวัคซีนที่มีการใช้แพร่หลาย อาทิ แอสตร้าเซนเนก้า 172 ประเทศ ไฟเซอร์-ไบออนเทค 113 ประเทศ ซิโนฟาร์ม 68 ประเทศ โมเดอร์นา 61 ประเทศ สปุตนิไฟท์ 55 ประเทศ เจนเซ่น 48 ประเทศ ซิโนแวค 36 ประเทศ

ดร.ซุมยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่กำลังจะใช้ในประเทศไทย ซึ่งประสิทธิผลประมาณ 63% ในการป้องกันโควิด-19แบบมีอาการ ซึ่งไม่ควรเปรียบเทียบ % ของวัคซีนแต่ละชนิดในส่วนนี้ เพราะระเบียบวิธีการวิจัยต่างกัน และแต่ละประเทศในการศึกษาวิจัยการระบาดต่างกัน สายพันธุ์ต่างกัน เพราะฉะนั้นจะนำ%มาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ต้องดูปัจจัยอื่นๆด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องดูเรื่องการป้องกันโรครุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น การเกิดลิ่มเลือด
จะพบ 1 ในล้าน หรือ 4 ในล้าน ซึ่งโอกาสเกิดน้อยมาก

“ส่วนที่ว่าฉีดครบ 2 โดสแล้วจะมีประสิทธิผลยาวนานแค่ไหนนั้น ขณะนี้ยังเก็บข้อมูลอยู่ ขณะนี้มีข้อมูลแค่ช่วง 6 เดือนเท่านั้น และการทดลองในคนก็ยังไม่มากมาย จึงต้องรอและเห็นผลกว่านี้ต้องใช้เวลาเป็นปี และอาจต้องมีการฉีดอีกกเข็มเพื่อกระตุ้นอีกหรือไม่ ซึ่งตรงนี้เป็นงานที่ต้องศึกษาต่อเนื่อง ส่วนคนที่ติดโควิดมาแล้วก็ยังต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดสเช่นกัน แต่กรณีหากวัคซีนไม่พอในประเทศนั้นๆ คนกลุ่มนี้รอได้ประมาณ 6 เดือน เพราะคิดว่าจะมีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่จากการที่ติดมา”

แม้ฉีดวัคซีนแล้วการ์ดยังต้องไม่ตก
นพ. แดเนียล เอ เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ในการป้องกันการเสียชีวิติจากโควิด-19 เพราะฉะนั้น ทุกคนที่มีสิทธิ์ในไทยจึงควรไปลงทะเบียนฉีดวัคซีน และขำย้ำว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ อย่าการ์ดตก ไม่ใช่ว่าวัคซีนมาทุกอย่างหายไป เรายังต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเดิม เว้นระยะห่างเหมือนเดิม ล้างมือบ่อยๆ มาตรการป้องกันโรคยังต้องเข้มเช่นเดิม