กูรู 'ไต้หวัน' ชำแหละ 3 แอพไทย สู้โควิด-19

กูรู 'ไต้หวัน' ชำแหละ 3 แอพไทย สู้โควิด-19

กูรู "ไต้หวัน" ชำแหละ 3 แอพไทย สู้โควิด-19 พร้อมระบุ ถ้าต้องการเอาชนะการระบาดของโควิด รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะ พร้อมรับรองความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล

สถานการณ์โควิดระลอกสาม ในไทยยังคงต้องจับตาในพื้นที่สีแดงพบยอดผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง ประกอบกับปัญหาเรื่องวัคซีนที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเมื่อมองย้อนกลับไปถึงมาตรการป้องกันต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะแอพพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับโควิด-19 ยังพบจุดบกพร่อง ทำให้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้แทบไร้ประโยชน์

“ชิต ลี” (Chit Lee) หรือเต๋อ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัท วีที กรุ๊ป (VISION THAI) ในฐานะที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์และการตลาดต่างประเทศ (ประเทศไทย) ของสถาบันเพื่ออุตสาหกรรมสารสนเทศแห่งไต้หวัน (ไอไอไอ) ผู้ใช้ชีวิตในไทยมานานกว่า 10 ปี วิเคราะห์ 3 แอพพลิเคชัน ได้แก่ "ไทยชนะ หมอชนะ และไทยแลนด์พลัส" ที่ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาพร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไข

ไทยชนะ “ชนะ” จริงหรือ?

“ไทยชนะ” คือแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นติดตามการเข้า-ออกของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 หรือประมาณ 1 เดือนหลังจากเกิดระบาดโควิด-19ในไทยระลอกแรก พบยอดดาวน์โหลดปัจจุบัน เฉพาะระบบแอนดรอยด์ทะลุหลักล้าน

“ไทยชนะ” จะจัดเก็บข้อมูลผ่านการเช็คอิน/เช็คเอาท์ ตามสถานที่ต่างๆด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งการสแกนครั้งแรกหรือถ้าเพิ่งติดตั้งแอพฯ จะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ส่วนคนที่ไม่มีมือถือก็ต้องกรอกข้อมูลด้วยการเขียน

162279341721

กลไกนี้ถือว่าไม่เลว ถ้าไทยชนะสามารถใช้งานได้จริง แต่ความเป็นจริง ปัญหาของไทยชนะ คือ 1. URL ไม่มี encoding ผู้ใช้จึงสามารถป้อน URL ได้เอง และเช็คอินเข้าออกสถานที่ต่างๆได้ แม้จะไม่ได้อยู่ที่สถานที่นั้นก็ตาม 2.ถ้าไม่ดาวน์โหลดติดตั้งแอพฯ แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านหน้าเว็บ ระบบจะไม่ทำการยืนยันตัวตนทางเอสเอ็มเอส จึงไม่สามารถระบุได้ว่า คุณเป็นคนเช็คอินรึเปล่า

“ปัญหาสองข้อข้างต้นนี้ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ หากต้องการติดตามทุกการเข้า-ออก ก็ควรที่จะต้องส่งข้อความเอสเอ็มเอส ทุกครั้งที่เข้าสู่ระบบหรือใช้งานเหมือนแอพฯธนาคาร ก็คือคอนเซ็ปต์ OTP (One-time password) นั่นเอง ถึงจะสามารถยกระดับความถูกต้องของข้อมูลผู้ใช้งาน” เต๋อ กล่าว

ดังนั้น ปัญหาข้างต้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำ URL encoding ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ป้อน URL ได้เอง และใช้ OTP ในการยืนยันตัวตน เพียงเท่านี้ก็สามารถแก้ไขจุดบกพร่องทั้งสองนี้ได้แล้ว

หมอชนะที่ “เกือบจะชนะ”

“หมอชนะ” คือแอพพลิเคชั่นตรวจสอบและบันทึกข้อมูลการเดินทาง เปิดตัวมาก่อนไทยชนะเสียอีก หมอชนะเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ปี2563 พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ถือว่ารวดเร็วกว่าสองยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง แอ๊ปเปิ้ลและกูเกิลที่ร่วมกันพัฒนาเมนู “แจ้งเตือนการสัมผัสเชื้อ” (Google/Apple Exposure Notification : GAEN) เหตุนี้หมอชนะจึงไม่ได้ใช้ระบบ GAEN แต่หมอชนะใช้จีพีเอส และบลูทูธในการรายงานข้อมูลผู้ใช้งาน

รัฐบาลไทยผลักดันแอพฯ นี้อย่างมาก ในระบบแอนดรอยด์จึงมียอดดาวน์โหลดถึง 5 ล้านครั้ง ส่วนหัวเว่ยมียอดดาวน์โหลด 250,000 ครั้ง แต่เมื่อเทียบกับประชากรไทย 68 ล้านคนและหักผู้ใช้ไอโฟนออกไป สัดส่วนนี้ยังถือว่าน้อยเกินไปอยู่ดี และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเคยออกกฎว่าถ้าไม่ติดตั้งแอพฯ จะโดนปรับ 4 หมื่นบาท แต่ก็ยังไม่เป็นผล และปัญหาสำคัญของหมอชนะคือ ปัญหาด้านข้อมูลส่วนบุคคล

162279347918

GAEN ใช้เทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ ซึ่งสามารถตรวจจับและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมือถือที่เข้าใกล้ กับรหัสบ่งบอกการใกล้กัน (Rolling Proximity Identifier) ซึ่งจะสุ่มเปลี่ยนทุก 15 นาทีเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เพื่อระบุพร้อมทำการแจ้งเตือนผู้ที่อาจจะใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หากเจ้าของมือถือเครื่องใดป่วยเป็นโควิด-19 ระบบจะแจ้งเตือนไปยังมือถือที่เคยอยู่ใกล้กัน

ที่สำคัญคือ GAEN นี้มีเพียงหน่วยงานราชการเท่านั้นที่สามารถเข้าใช้งานได้ โดยปัจจุบันมีอย่างน้อย 67 หน่วยงานที่ใช้ระบบนี้ แต่ทำไมรัฐบาลถึงไม่นำ API นี้มาใช้

คำตอบของรัฐบาลคือ 1.บริการโทรศัพท์หัวเว่ยไม่รองรับ 2. คิดว่าข้อมูลที่ GAEN รวบรวมยังไม่เพียงพอ เรารวบรวมข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ Blognone ดังนั้นหมอชนะก็เหมือนกับไทยชนะ ที่ไม่สามารถบังคับให้ทุกคนติดตั้งได้ และผู้ใช้งานไม่ไว้วางใจหมอชนะ จึงยังคงไม่ชนะอยู่ดี

“ถ้าหากต้องการที่จะ “ชนะ” อันที่จริงแล้ว ไม่ได้มีวิธีการที่ซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแต่รัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนติดตั้งแอพพลิเคชันหมอชนะ พร้อมรับรองความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน” เต๋อ กล่าวเสริม

“ไทยแลนด์พลัส” หมอชนะสำหรับชาวต่างชาติ

ไทยแลนด์พลัส คือแอพพลิเคชั่นสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งพัฒนาโดย สพร. เช่นกัน ไทยแลนด์พลัส เปรียบเหมือนหมอชนะ เวอร์ชั่นสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย

ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด เฉพาะระบบแอนดรอยด์ ประมาณ 1 หมื่นครั้ง ซึ่งถือว่าอัตราการติดตั้งสูงมาก เพราะในเดือน ม.ค. 2564 รัฐบาลได้กำหนดให้ COE ที่ยื่นขอเข้าประเทศ ต้องยื่นผ่านไทยแลนด์พลัส เท่านั้น ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ดีมาก แต่ก็ยังคงมีปัญหาด้านระบบอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องความเสถียร และหมายเลข COE ที่อ่านไม่ได้ในบางครั้ง ซึ่งขอเพียงแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ไทยแลนด์พลัส ก็สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุดหาก 3 แอพพลิเคชั่นสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ แม้จะเป็นการดำเนินการที่เหมือน “วัวหายล้อมคอก” แต่หากมีการแก้ไขทันทีเมื่อรู้ถึงปัญหา ก็ถือว่ายังไม่สายเกินไป เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ “ชนะ” อย่างแท้จริง