รู้ให้ลึก! ก่อนฉีด ‘วัคซีนโควิด’ ทำไมไม่ต้องหยุด ‘ยาคุม’

รู้ให้ลึก! ก่อนฉีด ‘วัคซีนโควิด’ ทำไมไม่ต้องหยุด ‘ยาคุม’

ก่อนฉีด "วัคซีนโควิด" ต้องงด "ยาคุม" ไหม? คำถามที่ผู้หญิงไทยอยากรู้คำตอบชัดๆ เพราะไม่อยากป่วย ไม่อยากเสียชีวิต แล้วต้องดูแลตัวเองอย่างไร "สูตินรีแพทย์" มีคำตอบ...

หลายคนสงสัยและถามกันเยอะว่า ในวันที่ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่กินยาคุมกำเนิดอยู่ ต้องทำอย่างไร ควรหยุดยาหรือไม่...

พญ. ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ ผู้มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี อธิบายว่า เรื่องเกิดขึ้นจากน้องผู้หญิงอายุ 32 ปีกินยาคุมแล้วไปฉีดวัคซีนซิโนแวค หลังจากนั้น 5 วันมีอาการหน้ามืด แล้ว 3 วันก็เสียชีวิต จากลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทำให้เกิดความหวาดกลัวมาก มีคนมากมายมาถามหมอว่า ฉีดยาคุมอยู่ ฝังยาคุมอยู่ กินยาคุมอยู่ จะฉีดวัคซีนแล้วต้องหยุดไหม โกลาหล สับสนมาก

"คำตอบคือ 1) วัคซีนที่อาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน (Pulmonary embolism) เป็นวัคซีนอะดีโนไวรัส (Adenovirus) มีอยู่ 2 ยี่ห้อคือ แอสต้าเซนเนก้า (AstraZeneca) กับ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

162251835694 พญ. ชัญวลี ศรีสุโข 

ส่วน ซิโนแวค (Sinovac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ตอนนี้ทั่วโลกฉีดซิโนแวคไปแล้ว 200 ล้านโดส ยังไม่มีรายงานลิ่มเลือดอุดตัน ประเทศไทยฉีดไป 2.5 ล้านโดสแล้วยังไม่เกิดปัญหา เพิ่งมาเกิดกับน้องรายนี้ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่

ในรายละเอียดของซิโนแวคไม่ค่อยเกิด เพราะมันเป็นเชื้อตาย ไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับลิ่มเลือด ส่วนอะดีโนไวรัสมีเกิดขึ้น เพราะมีหลักฐานเกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิต้านทานที่ไปทำลายสารละลายลิ่มเลือด

ส่วนยาคุมกำเนิดนั้น ตัวยาใช้วิธีเพิ่มสารทำให้เลือดแข็งตัว คนละกลไกกับวัคซีน มันไม่เสริมกัน กลไกการทำงานต่างกัน การเกิดลิ่มเลือดมันคนละแบบกัน"

คุณหมอแจกแจงอีกว่า ที่ผ่านมา รายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนมาจากแถบตะวันตก ซึ่งฉีดวัคซีนคนละชนิดกับประเทศไทย ส่วนสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดนั้น เกิดจากภาวะของแต่ละคนมากกว่า

  • สาเหตุ "ลิ่มเลือดอุดตัน"

คำว่า ลิ่มเลือดอุดตัน ในฝั่งตะวันตกจะสัมพันธ์กับความอ้วน, โรคประจำตัว และการสูบบุหรี่ คุณหมอชัญวลี บอกว่า โดยทั่วไปคนที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิด จะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 1-5 คนต่อ 10,000 คน ส่วนคนที่กินยาคุมกำเนิดมีโอกาสเกิด 3-9 คนต่อ 10,000 คน  ส่วนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือหลังคลอดจะมีภาวะฮอร์โมนสูง ช่วงที่ตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิด 5-20 คนต่อ 10,000 คน ผู้หญิงหลังคลอดมีโอกาสประมาณ 40-45 คนต่อ 10,000 คน

"ส่วนสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมาจาก 1) อ้วน 2) ไม่ออกกำลังกาย พอเลือดเป็นลิ่ม มันก็ไปอุดนั่นอุดนี่ 3)พวกเดินทางไกล นั่งเครื่องบินนานกว่า  4 ชั่วโมงขึ้นไป ต้องลุกขึ้นมาขยับตัวออกกำลังกายกระดกเท้า เพราะลิ่มเลือดจะไปอุดตันที่ขาได้ ที่สำคัญคือ อุดที่ปอด ทำให้เสียชีวิตได้ จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุหลายปัจจัย"

ปกติภาวะลิ่มเลือดอุดตันก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว ส่วนยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจจะมีส่วนทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ แต่ก็น้อยมาก

162251837686

  •    รู้จักการคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดจะมีอยู่สามอย่าง

1) ยาคุมชนิดกินแบบฮอร์โมน 2 ตัว เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน พอกินหมดแผง ก็จะมีประจำเดือน ตัวที่เพิ่มการเกิดลิ่มเลือด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนยาคุมชนิดกินแบบฮอร์โมนเดี่ยว จะเกิดลิ่มเลือดต่ำ

2) ยาคุมชนิดฉีด มี 2 แบบคือ แบบ 1 เดือน กับ 3 เดือน ถ้าเป็น 1 เดือนก็เหมือนยาคุมชนิดกิน อาจเพิ่มการเกิดลิ่มเลือด แต่ไม่มาก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ถ้าเป็นยาคุมแบบ 3 เดือนเป็นโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว โอกาสเกิดลิ่มเลือดต่ำ สรุปว่า ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด คือ เอสโตรเจน

3) ยาคุมชนิดฝัง หรือยาฝัง เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีผลต่อการเกิดลิ่มเลือดไม่มาก ส่วนการคุมกำเนิดแบบใส่ห่วง มีทั้งห่วงทองแดงและห่วงยา ก็คือ ใส่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้าไป ก็ไม่มีผลเช่นเดียวกัน"

162251839358

  •   ต้องหยุด'ยาคุม'ก่อนฉีดวัคซีนไหม

คุณหมอกล่าวต่อว่า ประเทศไต้หวันบอกให้หยุดยาคุม 28 วันแล้วค่อยฉีดวัคซีน แต่จะได้ผลจริงหรือ เพราะวัคซีนเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งใช้ในช่วง 4 เดือนนี่เอง จึงพิสูจน์ไม่ได้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ แต่ถ้าใครอยากหยุดยาคุมจริงๆ แนะนำว่า

"สำหรับคนที่จะหยุดยาคุม ถ้ากินไปแล้วครึ่งแผง หรือกินไปแล้วสิบเม็ด อย่าเพิ่งหยุด เพราะนั่นยังคุมไม่ได้เลย ต้องกินให้หมดแผงแล้วหยุด หรือ ถ้าคุณไม่ต้องการมีลูก ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นแบบอื่นที่ได้ผล เช่น ใส่ถุงยางที่ได้มาตรฐาน

หลายประเทศยืนยันว่า ไม่ต้องหยุดยาคุม ฉีดวัคซีนไปได้เลย ไม่เป็นไร เพราะข้อห้ามของการฉีดวัคซีนมีประการเดียวคือ คนที่มีอาการของโรครุนแรงมาก จนลุกขึ้นไม่ได้ หรือควบคุมโรคไม่ได้ ตอนนี้หลายๆ หน่วยงานก็ออกมาประสานเสียงกันว่า ไม่จำเป็นต้องหยุดยาคุม เพราะยังไม่มีหลักฐานว่า ลิ่มเลือดเกิดจากยาคุมจริงๆ"

........................................

ประกาศจาก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (วันที่ 31 พฤษภาคม 2564)

ข้อมูล ณ ปัจจุบัน รวบรวมจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในสตรีทั่วโลกและในประเทศไทย มีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด

ยืนยันว่า ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ หากมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

.............................................

ประกาศจากกรมควบคุมโรค (วันที่ 31 พฤษภาคม 2564)

ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism) เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดํา และหลุดไปอุดที่หลอดเลือดที่ปอด (Venous thromboembolism; VTE) เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเฉียบพลัน และมีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 30

จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระหว่างปี 2559-2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวปีละ 12,900-26,800 ราย คิดเป็น 200-400 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน โดยปัจจัยเสี่ยงคือ พันธุกรรม ภาวะโรคมะเร็ง การไม่เคลื่อนที่เป็นเวลานานๆ การกินยาคุมกําเนิด หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนใดๆ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2554 พบว่า มีรายงานพบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั่วโลกทั้งสิ้น 4,575 ราย จากการฉีดกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็นอัตรา 2.5 รายต่อประชากรล้านคนที่ได้รับวัคซีน ที่สําคัญวัคซีนของซิโนแวค มีรายงาน 7 ราย จากการฉีดมากกว่า 200 ล้านโดส และไม่พบว่าผู้ได้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดสูงขึ้น หรือวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรง

หลังจากคนไทยได้รับวัคซีนของ บริษัท ซิโนแวค กว่า 2 ล้านโดส  ไม่มีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอด ผู้เชี่ยวชาญแนะนําให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคต่อไปได้ ผู้มารับบริการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด ไม่จําเป็นต้องหยุดยาคุมกําเนิด เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ให้เฝ้าดูอาการหลังฉีด หากมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดบวมขา ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็ว